นักระบาดวิทยาเตือนนักเรียนระวังโรคหัด

15 Jan 1998

กรุงเทพ--15 ม.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

น.พ.สมศักดิ์ วัฒนศรี ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยารายงานว่าจากการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา พบว่าจำนวนของผู้ป่วยโรคหัด ในปีพ.ศ.2539 มีผู้ป่วย 5,760 ราย เสียชีวิต 2 ราย และในปีพ.ศ.2540 มีผู้ป่วย 11,456 รายเสียชีวิต 1 ราย และมีแนวโน้มว่าในต้นปีพ.ศ.2541 อาจจะมีการระบาดของโรคหัดได้ โดยทั่วๆ ไป จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม และสูงสุดในเดือนมีนาคม จากนั้นจะเริ่มลดลง เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าปีใดจำนวนผู้ป่วยเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี ในปีถัดไปมักเกิดการระบาดขึ้น

ตั้งแต่มีการเฝ้าระวังโรคหัดพบว่าเด็กกลุ่มอายุ 0-4 ปี มีอัตราป่วยสูงสุดแต่ พ.ศ.2532 ถึง พ.ศ.2538 พบว่าอัตราป่วยสูงสุดอยู่ในเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี ในพ.ศ.2539 ถึง 2540 เด็กกลุ่มอายุ 0-4 ปี กลับมามีอัตราป่วยสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

โรคหัด (Measles) เป็นโรคไข้ออกผื่นที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุ 2-6 ปี ซึ่งติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ หรือจามรดกันโดยตรง เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ, น้ำมูก และน้ำลายของผู้ป่วย เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป ก็จะทำให้เกิดโรคได้

อาการ หลังจากรับเชื้องแล้ว 10-12 วัน จะเริ่มมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดงแฉะ อาการจะรุนแรงมากขึ้น ไข้จะสูงมากขึ้น และมีผื่นขึ้นตามมา ผื่นมีลักษณะนูนแดงขึ้นบริเวณใบหน้าก่อนแล้วกระจายไปตามลำตัวและแขนขา ไข้จะลดลงเมื่อผื่นกระจายไปทั่วตัวผื่นจะมีสีเข้มขึ้นและคงอยู่ประมาณ 5-6 วัน เมื่อผื่นยุบผิวหนังจะมีสีน้ำตาลแดง กว่าจะจางหมดไปกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

โรคแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ช่องหูอักเสบ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ อุจจาระร่วงและภาวะทุพโภชนาการ ในเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่แล้วเมื่อเป็นโรคนี้จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น และถ้ามีปอดอักเสพร่วมด้วย อาจทำให้เสียชีวิตได้

ดังนั้นในช่วงเวลานี้ประชาชนควรนำเด็กมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ตั้งแต่บัดนี้ และเมื่อพบบุตรหลานของท่านป่วย ควรแยกห้องในกรณีที่เป็นนักเรียนให้หยุดเรียนอย่างน้อย 4 วัน หลังจากผื่นขึ้นแล้ว--จบ--