เบทาโกรเดินหน้าส่งออกไก่เนื้อ ขยายกำลังการผลิตสนองตลาดต่างประเทศ

20 Jan 1998

กรุงเทพ--20 ม.ค.--เครือเบทาโกร

เครือเบทาโกร ขยายกำลังการผลิตไก่เนื้อเพื่อส่งออก ปี 2541 เพิ่มยอดการส่งออกไก่สดแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์อาหารทั้งสิ้น 38,000 ตัน มูลค่า 4,600 ล้านบาท

นายสุเทพ ดีระพิพัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์อาหารว่า ได้มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไก่เนื้อ และดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2540 ก่อนประกาศนโยบายค่าเงินบาทลอยตัว โดยได้ลงทุนติดตั้งเครื่องจักรใหม่ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนไก่สดแช่แข็ง และติดตั้งเสร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมาจากวันละ 150,000 ตัว เป็นวันละ 195,000 ตัว และเพิ่มสายการผลิตในโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ทำให้กำลังการผลิต เพิ่มจาก 3,000 ตัน เป็น 4,000 ตัน เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของเครือฯ ที่เน้นธุรกิจอาหารและการส่งออก

พร้อมกันนี้ ก็ได้เร่งเสริมสร้างประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต โดยการนำระบบไคเซ็นและระบบ Time Motion/Study มาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพการทำงาน และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่สูญเสีย โดยไม่จำเป็นลงได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

"เป้าหมายการส่งของเครือเบทาโกรในปีนี้

คาดว่าจะส่งออกไก่สดแช่แข็งเพิ่มขึ้นจากปี 2540 ที่ส่งออกได้ 25,000 ตัน มูลค่า 2,500 ล้านบาท เพิ่มเป็น 34,000 ตัน มูลค่า 4,000 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่เข็ง เพิ่มจากปี 2540 ที่ส่งออกได้ 3,000 ตัน มูลค่า 400 ล้านบาท เป็น 4,000 ตัน มูลค่า 600 ล้านบาท รวมเป็นยอดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของเครือฯ ในปี 2541 ทั้งสิ้น 38,000 ตัน มูลค่า 4,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24 เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย รวมทั้งเครือฯ ที่ตั้งไว้ 18,000 ล้านบาท"

ในด้านการขยายตลาดเพื่อการส่งออก รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า นอกเหนือจากกลยุทธ์การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์

เพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้าแล้วมาตรฐานการผลิตก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาใช้ ได้แก่ ระบบ HACCP และ ISO 9000 เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดยุโรป

ส่วนกรณีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในฮ่องกง ซึ่งเกิดจากการนำเข้าไก่เนื้อของประเทศจีนนั้น นายสุเทพกล่าวว่า จะเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมการส่งออกไก่เนื้อของประเทศไทยแม้ว่าจะไม่สามารถไปทดแทนตลาดในฮ่องกงได้ เนื่องจากชาวฮ่องกงนิยมบริโภคไก่ชำแหละสดมากกว่า ในขณะที่การส่งออกไก่ของไทยเป็นไก่ชำแหละแช่แข็ง แต่จะส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อลูกค้า โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ทั้งนี้ จากการที่มีลูกค้า ได้ตรวจสอบข้อมูลด้านราคา และคุณภาพการผลิตไก่ของไทยเข้ามาในช่วงนี้มาก ทั้งที่ปกติจะเป็นช่วงที่มีการสั่งซื้อน้อย (low season) แต่จะเห็นผลชัดเจนจากการสั่งซื้อในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี และคาดว่าในปี 2541 ประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่เนื้อแช่แข็งไปญี่ปุ่น ยุโรป และประเทศอื่นๆ ได้ประมาณ 200,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2540 ที่ส่งออกได้ประมาณ 160,000 ตัน

นอกจากนี้ ผลจากอัตราค่าเงินบาทลอยตัว เมื่อคิดต้นทุนเป็นดอลลาร์ ทำให้สินค้าจากไทยมีราคาถูกลงใกล้เคียงกับคู่แข่ง โดยเฉพาะจากประเทศจีน และบราซิล ทำให้ไทยได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้ภาวะส่งออกไก่เนื้อของไทยในปีนี้มีแนวโน้มสดใส

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

แผนกประชาสัมพันธ์ เครือเบทาโกร

โทรศัพท์ 955-0555 # 2902-4--จบ--