วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ยังป้องกันได้ไม่เต็มร้อย

29 Jul 1997

กรุงเทพ--29 ก.ค.--สธ.

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าคนไทยมีการติดเชื้อหรือเป็นพาหนะของเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ที่วัคซีนชนิดเตตราวาเลนซ์สามารถป้องกันได้ ร้อยละ 42.9 และอีกร้อยละ 57.1 เป็นเชื้อชนิดที่วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคกาฬหลังแอ่นได้

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยสาธารณสุข ได้ศึกษาความชุกของชนิดต่างๆ ของเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของการป้องกันโรคโดยใช้วัคซีน และศึกษาความไวของเชื้อต่อยาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาและป้องกันการโรคกาฬหลังแอ่น เพื่อดูแนวโน้มการดื้อยา ผลการศึกษาตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบัน พบว่าคนไทยมีการติดเชื้อหรือเป็นหาพนะของเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น จำนวน 56 สายพันธุ์ จาก 12 จังหวัด เป็นเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นชนิด A ร้อยละ 28.6 ชนิด B ร้อยละ 37.5 ชนิด C ร้อยละ 1.8 ชนิด Y และ W 135 ร้อยละ 12.5 และชนิดอื่นๆ ร้อยละ 19.6 ซึ่งในปัจจุบันวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคกาฬหลังแอ่นเป็นชนิดเตเตราวาเลนซ์สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นได้ 4 ชนิด คือ ชนิด A,C,Y และ W 135 แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อชนิด B และจากผลการหาค่าความเข้มข้นยาต่ำสุดในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ พบว่าเชื้อนี้มีโอกาสไวต่อยาเพนนิซิลินที่ใช้ในการรักษาน้อยลง ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังการดื้อยาต่อไป

น.พ.มงคล ณ สงขลา กล่าวในตอนท้ายว่า ผลจากการศึกษาวิจัยดังกล่าว พบเชื้อ Neisseria meningitidis ชนิด B และชนิดอื่นๆ ถึงร้อยละ 57.1 ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคกาฬหลังแอ่นแล้วก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตามประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก แม้ว่าไข้กาฬหลังแอ่นจะเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แต่ก็ไม่ติดต่อง่าย เนื่องจากเชื้อจะตายได้ง่ายเมื่ออยู่นอกร่างกาย และจะติดต่อได้ได้เมื่อหายใจเอาละอองน้ำมูกหรือน้ำลายที่พ่นออกมาจากผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้สามารถป้องกันได้โดยรับประทานยาป้องกันตามคำแนะนำของแพทย์

สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 591-0203-14 ต่อ 9017, 9081 โทรสาร 591-1707--จบ--