กรุงเทพ--8 ส.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เผยการศึกษาเศรษฐศาสตร์เรื่องและอัตราภาษีบุหรี่พบรัฐต้องเสียงบประมาณด้านรักษาพยาบาลจากพิษภัยของบุหรี่ปีละ กว่า 7,000 ล้านบาทแนะรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่ม ลดภาวะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
นายแพทย์สุภกร บัวสาย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากพิษภัยของบุหรี่คือจากปี 2535-2539 ต้องเสียงบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 7,000 ล้านบาท และยังต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในปี 2539 ที่ผ่านมาถึง 1,445 ล้านบาท เพื่อการสั่งซื้อใบยาสูบจากต่างประเทศ และอีก 953 ล้านบาท ในการนำเข้าสินค้ายาสูบสำเร็จรูป นับตั้งแต่เปิดให้มีการนำเข้าสินค้าโดยเสรี
นอกจากความเสียหายอันเกิดจากบุหรี่ในด้านต้นทุนค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายอันเนื่องจากอัคคีภัย และยังส่งผลให้เกิดความสูญเสียสภาวะแวดล้อมและนิเวศน์วิทยา จากการใช้พื้นที่เพาะปลูกยาสูบอีกด้วย นายแพทย์สุภกรกล่าว
ทางด้านดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้กล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์เรื่องบุหรี่และอัตราภาษีบุหรี่พบว่าหากรัฐมีการเรียกเก็บเพิ่มภาษีสรรพสามิตบุหรี่จะทำให้เกิดประโยชน์ 2 ทางคือ 1.สามารถลดการบริโภคยาสูบ 2.สามารถเพิ่มรายได้จากภาษีบุหรี่
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาษีบุหรี่จะถูกมองว่า ทำให้ผู้มีรายได้ต้องรับภาระมากขึ้น แต่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นภาษีแบบก้าวหน้า ในแง่ของผลกระทบต่อสุขภาพ กล่าวคือ เมื่อราคาบุหรี่สูงขึ้น ก็จะทำให้ลดปริมาณการบริโภคบุหรี่ ส่งผลให้สุขภาพดีตามไปด้วย และในส่วนของภาครัฐยังสามารถจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งจากภาษีบุหรี่ นำมาใช้ในการเผยแพร่ความรู้ถึงพิษของบุหรี่ หรือใช้เพื่อรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ ดร.สุชาดากล่าว--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit