กทม.ขยายผลโรงเรียนสามประโยชน์เพิ่มอีก 25 โรงเรียน

05 Aug 1997

กรุงเทพ--5 ส.ค.--สนช.

นายณรงค์ โตสมภาค ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการดำเนินการขยายโครการสามประโยชน์ว่า ตามที่ ดร.พิจิตต รุตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายขยายโรงเรียนสามประโยชน์เพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ คือ เป็นแหล่งวิทยากรจัดการศึกษาระดับก่อนประถมถึงมัธยม เป็นแหล่งนันทนาการ การเล่นกีฬา ดนตรี สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งบริการชุมชนโดยการจัดการฝึกอาชีพ หรือเป็นที่จัดประชุม เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถาบันที่ชุมชนจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งได้เปิดโครงการนำร่องไปแล้ว ได้แก่ โรงเรียนวัดประชาระบือธรรม (ดุสิต) วัดประชาศรัทธาธรรม (บางซื่อ) ไทยนิยมสงเคราะห์ (บางเขน) ประชาอุทิศ (ดอนเมือง) วัดไทร (บางคอแหลม) วัดบางนาใน (พระโขนง) วัดฉัตรแก้วจงกลนี (บางพลัด) โรงเรียนคลองหนองใหญ่ (ภาษีเจริญ) และขณะนี้ได้ขยายโรงเรียนสามประโยชน์อีก 25 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดราชสิงขร (บางคอแหลม) วัดมงคลวราราม (จอมทอง) วัดเทพลีลา (บางกะปิ) บ้านบางกะปิ (บางกะปิ) วัดท่าพระ (บางกอกใหญ่) ภักดีนรเศรษฐ (หนองจอก) วัดคลองภูมิ (ยานนาวา) การเคหะท่าทราย (ดอนเมือง) วัดสีสุก (จอมทอง) บ้านลาดพร้าว (จตุจักร) วัดเทวสุนทร (จตุจักร) วัดนิมมานนรดี (ภาษีเจริญ) คลองทวีวัฒนา (ตลิ่งชัน) วัดดอนเมือง (ดอนเมือง) บางขุนเทียนศึกษา (บางขุนเทียน) วัดยางสุทธาราม (บางกอกน้อย) และ ชุมชนลาดกระบัง(ลาดกระบัง) บางโพโอมาวาส (บางซื่อ) บ้านเกาะ (มีนบุรี) สุวิทย์ เสรีนุสรณ์ (ประเวศ) เพี้ยนพิณอนุสรณ์ (พระโขนง) สามเสนนอก (ดินแดง) แย้มาดวิชานุสรณ์ (บึงกุ่ม) วัดมหาธาตุ (พระนคร) เพชรขนอม (ลาดพร้าว) และโรงเรียนสามัคคีบำรุง (ราษฎร์บูรณะ)

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนของกรุงเทพมหานครจะเป็นแหล่งที่สามารถใช้ประโยชน์อันทรงคุณค่าแก่สังคม เยาวชนทั้งในโรงเรียนและทั่วไป รวมทั้งชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในโรงเรียน โดยเน้นให้โรงเรียนเป็นแหล่งศูนย์กลางของชุมชนที่ผู้ใช้ประโยชน์อาจร่วมกันทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น ค้นคว้าหาความรู้ พบปะสังสรรค์ หรือพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งหาความรู้ด้านวิชาชีพได้ด้วย ทั้งนี้ โรงเรียนสามประโยชน์ถือเป็นนโยบายที่สำคัญที่ส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นสถาบันที่ใกล้ชิดชุมชน และเป็นแหล่งหล่อหลอมชาวชุมชน ประชาชนทั่วไปสามารถใช้เวลาว่างพัฒนาตามความต้องการของตนเองให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ--จบ--