กรุงเทพ--13 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขชี้ การดูแลสุขภาพแรงงานในปัจจุบัน บทบาทของสธ.เป็นการตามแก้ปัญหามากกว่าการป้องกัน ในขณะที่นับวันจะมีผู้ที่เจ็บป่วยจากการทำงานเพิ่มสูงขึ้น เสนอจัดตั้ง "กรมอาชีวเวชศาสตร์" ดูแลทุกขั้นตอนทั้งก่อนและหลังเกิดปัญหา
พลเรือตรี นายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ว่า ที่ผ่านมาบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขมีลักษณะตั้งรับมากกว่าการรุก กล่าวคือมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ 2 หน่วยงานคือ กองอาชีวอนามัย กรมอนามัย ดูแลด้านการเฝ้าระวังภาวะอันตรายต่าง ๆ และสำนักพัฒนาวิชาการแพทย์ กรมการแพทย์ ทำหน้าที่ด้านการรักษาพยาบาลโรคจากการทำงาน จะเห็นว่ายังไม่มีบทบาทด้านการควบคุมปัองกันที่ชัดเจน และเนื่องจากเรื่องนี้นับเป็นปัญหาใหม่ของประเทศ หากจะมีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมต่อไป ก็ควรมีหน่วยงานรองรับปัญหานี้เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอขอจัดตั้ง กรมอาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Medicine) โดยการรวม 2 หน่วยงานดังกล่าวเข้าด้วยกัน และขยายบทบาทหน้าที่ให้ครอบคลุมปัญหา เน้นการค้นคว้าวิจัย การรักษา การป้องกัน การส่งเสริม และการฟื้นฟู ซึ่งขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการจัดตั้งกรมดังกล่าวแล้ว
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า จากการที่มีการใช้เทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนและสารเคมีที่เป็นอันตรายมากขึ้น ทำให้มีการเจ็บป่วยและการประสบอันตรายหรือการบาดเจ็บจากการทำงานมากยิ่งขึ้นด้วย ขณะนี้ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการทั่วประเทศประมาณ 291,931 แห่ง ผู้ประกอบอาชีพทั้งหมดประมาณ 32.5 ล้านคน อยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 4.5 ล้านคน ภาคเกษตรกรรมประมาณ 16.7 ล้านคน และอื่น ๆ อีกประมาณ 11.3 ล้านคน สำหรับภาคเกษตรกรรมนั้นพบว่า มีการนำเข้าสารเคมีมากขึ้นถึงประมาณร้อยละ 30 จากปี 2536 มีจำนวน 29,696 ตัน และในปี 2538 เพิ่มเป็น 38,754 ตัน
การใช้เครื่องมือและสารเคมีโดยขาดมาตรการควบคุมป้องกันที่เหมาะสม ทำให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และความเจ็บป่วยซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีทันใด หรือ ค่อย ๆ สะสมพิษไว้ในร่างกายทีละน้อยจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพในภายหลัง จากข้อมูลปี 2539 มีผู้ใช้แรงงานประสบอันตรายร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต 962 ราย พิการสูญเสียอวัยวะ 18 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน 5,042 ราย หยุดงานเกิน 3 วัน 78,826 ราย และในปีเดียวกันมีผู้ป่วยด้วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชถึง 3,196 ราย นอกจากนั้นยังพบผู้ป่วยด้วยโรคพิษตะกั่ว 32 ราย โรคพิษสารโลหะหนัก เช่นแมงกานีส ปรอท สารหนู จำนวน 55 ราย โรคพิษจากสารปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 75 ราย โรคพิษจากแก๊สและไอระเหย 44 ราย และโรคปอดจากการสูดดมฝุ่น 33 ราย
ทางด้านนายแพทย์ ปรากรม วุฒิพงศ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้พัฒนาวิธีการและเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ของศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมเขต และโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัดที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม 40 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ในการตรวจสอบและเทียบมาตรฐานการตรวจวัดทางห้องปฏิบัติการ โดยใช้การตรวจวัดสารตะกั่วในตัวอย่างอากาศและเลือด เป็นหลัก จนได้รับประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานจากทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งกรมอนามัยจะได้ขยายการดำเนินการด้านนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป เพื่อให้สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวตอนท้าย--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit