พม่ากำลังส่งผลกระทบต่อการสาธารณสุขไทย 3 ปัญหาใหญ่

07 Jul 1997

กรุงเทพ--7 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุข ชี้การนำเข้าแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะพม่าเข้ามา ได้ส่งผลกระทบต่อการสาธารณสุข 3 ปัญหาใหญ่ โดยจุดที่วิกฤติสุดอยู่ที่จังหวัดระนอง เนื่องจากอพยพเข้ามาทั้งครอบครัวอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่น

พลเรือตรีนายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีมติรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูแลด้านสุขภาพของแรงงานเหล่านี้ เพื่อควบคุมโรคติดต่อ มิให้ระบาดมาถึงคนไทย เนื่องจากการสาธารณสุขของพม่ายังล้าหลังกว่าประเทศไทยมาก ได้มอบนโยบายให้ทุกแห่งดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเพียงมาตรการรับปัญหาเท่านั้น

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมที่จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชาวพม่าอพยพเข้ามาใช้แรงงานทั้งถูกและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวนประมาณ 1 แสนคน โดยปัญหาจะแตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากชาวพม่าเข้ามาเป็นลักษณะครอบครัว และอยู่กันอย่างแออัด จนทำให้เกิดชุมชนพม่าหลายชุมชนในเขตอำเภอเมือง คือที่ตำบลบางริ้น และตำบลปากน้ำ

ผลกระทบด้านการสาธารณสุขที่จังหวัดระนองกำลังเป็นอยู่ขณะนี้ มี 3 ปัญหาใหญ่ได้แก่ การเกิดโรคติดต่อที่แอบแฝงในชาวพม่าที่สำคัญคือโรคมาเลเซีย โรคเท้าช้าง สภาพการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยเฉพาะปัญหาขยะน้ำเสีย ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคระบบบทางเดินอาหาร รวมทั้งปัญหาการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของชาวพม่า ในขณะที่ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในเรื่องของการวางแผนครอบครัว สุดท้ายคือเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตไม่นานนี้ ปัญหาดังกล่าวจะบานปลายขึ้น

ทางด้านนายแพทย์วุฒิไกร มุ่งหมาย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวว่า การเข้าไปดำเนินการควบคุมด้านการสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานพม่า อุปสรรคสำคัญคือการสื่อภาษา และแรงงานพม่ามีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา การแก้ไขในเบื้องต้นนี้ ในปี 2540 นี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองได้ร่วมมือกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เปิดสถานบริการสาธารณสุขเขตเมืองสาขาบางริ้น ซึ่งเป็นคลีนิคที่จะให้บริการและแนะนำชาวพม่าให้สามารถดูแลสุภาพได้เพื่อควบคุมโรคติดต่อ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองได้จัดส่งเจ้าหน้าที่พยาบาล 2 คนให้บริการและสนับสนุนเวชภัณฑ์ คือยา วัคซีนป้องกันโรคฟรี และสนับสนุนถุงยางอนามัยเพื่อควบคุมโรคเอดส์เดือนละ 4,000 ชิ้น โดยมีชาวพม่ามารับบริการเฉลี่ยวันละ 32 ราย ซึ่งในปีนี้มีแผนขยายบริการเพิ่มอีก 2 แห่งคือที่อำเภอกระบุรีและอำเภอละอุ่นซึ่งมีชาวพม่าอาศัยอยู่มากเช่นกัน

นอกจากนี้ยังให้การบำบัดรักษาหมู่โรคเท้าช้างในชาวพม่าทุกราย จนถึงขณะนี้ได้จ่ายยาให้ชาวพม่าแล้ว 5636 ราย ส่วนทางด้านการลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแรงงานต่างชาติ ได้กำหนดให้ใช้พรบ.ประกันสังคมแก่นายจ้างที่มีแรงงานต่างชาติตั้งแต่ 10 คน โดยมีแรงงานเข้าระบบนี้ 759 ราย และจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพแรงงานที่ไม่เข้าข่ายประกันสังคม ในราคา 500 บาท จำนวน 13,230 ราย อย่างไรก็ตามขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองยังมีภาระค่าใช้จ่ายแรงงานที่เรียกเก็บเงินไม่ได้ 1 ล้านกว่าบาท ดังนั้นนายจ้างที่จ้างแรงงานเหล่านี้เข้ามา ควรจะต้องร่วมกันรับผิดชอบปัญหานี้ด้วย

ในด้านการควบคุมโรคติดต่อ ในปีนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงฯ คือกล้องจุลทรรศน์จำนวน 100 เครื่อง เครื่องปั่นโลหิต 50 เครื่อง และรถมอเตอร์ไซด์ 50 คัน เพื่อใช้สำหรับควบคุมโรคติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป--จบ--