สมาคมพัฒนาสังคมนิด้าจับมือการเคหะทำโครงการพัฒนา "เกาะเกร็ด" จังหวัดนนทบุรี

03 Jul 1997

กรุงเทพ--3 ก.ค.--นิด้า

อาจารย์วิชัย รูปขำดี ที่ปรึกษาโครงการพัฒนา "เกาะเกร็ด" จังหวัดนนทบุรี เปิดเผยภายหลังจากที่ไปสำรวจสภาพชุมชนเกาะเกร็ดว่า ได้รับการติดต่อจากการเคหะแห่งชาติ ให้สมาคมพัฒนาสังคม เป็นผู้ศึกษาและทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกาะเกร็ด ตลอดจนพัฒนาองค์กรการพัฒนาเกาะเกร็ดในลักษณะการวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นเวลา 12 เดือน โดยจะเริ่มดำเนินการโครงการตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนศกนี้เป็นต้นไป

วัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาของเกาะเกร็ดและกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างรอบด้าน แล้วกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาเพื่อใช้เป็นแผนแม่บทของการพัฒนาเกาะเกร็ดต่อไป 2) เพื่อฝึกอบรมบุคลากรท้องถิ่น ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความสามารถในการจัดทำแผนและโครงการระดับตำบลให้สอดคล้องกับแผนแม่บทและมีขีดความสามารถในการนำแผนไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) เพื่อประสานเชื่อมโยงกับองค์กรพัฒนาภายนอกเกาะเกร็ดในการพัฒนาเอกลักษณ์ของชนชาติ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไปในอนาคต

"เกาะเกร็ด" หรือตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีสภาพเป็นเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่โดยรอบเกาะเป็นพื้นที่ราบลุ่มต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์ มีประชาชนตั้งถิ่นฐานกว่า 6 พันคน ประชากรของเกาะเกร็ดมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เช่น มอญ อิสลาม จีน และไทย ทำให้เกาะเกร็ดเป็นแหล่งวัฒนธรรมและผลิตผลที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม เช่น ผลไม้เมืองนนท์ เครื่องปั้นดินเผามอญโบราณ พิพิธภัณฑ์ วัดปรมัย หัตถกรรมเข่งปลาทู นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการทางสังคมที่มีชื่อเสียง เช่น ศูนย์ส่งเสริมอาชีพเครื่องปั้นดินเผาพื้นบ้าน ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี และสถานสงเคราะห์หญิงบ้านเกร็ดตระการ เป็นต้น

ปัจจุบันเกาะเกร็ดมีสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงมาก แหล่งน้ำสำคัญๆ มีสภาพเน่าเสีย อันเป็นผลมาจากการระบายน้ำเสียออกจากบ้านเรือนและร่องสวนออกสู่ลำคลองสาธารณะ รวมทั้งการเน่าเสียของวัชพืชริมตลิ่งผิวน้ำ เป็นผลทำให้คุณภาพของน้ำไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ ประชาชนต้องซื้อน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภค นอกจากนี้ เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงยังผลให้น้ำเน่าเสีย และน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาจากตอนกลางของกรุงเทพมหานครเอ่อท่วมสวนผลไม้เสียหาย และยังมีปัญหาด้านคมนาคม ปัญหาสุขภาพ และปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมาก

การแก้ไขปัญหาของเกาะเกร็ดมีความจำเป็นต้องศึกษาถึงสาเหตุและความเชื่อมโยงของแต่ละปัญหา แล้วกำหนดแนวทางแก้ไขอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งการพัฒนาทางกายภาพ การพัฒนาทางสังคม การพัฒนาองค์กรท้องถิ่นและองค์กรทางสังคมต่างๆ ให้มีขีดความสามารถเพียงพอต่อภารกิจการแก้ปัญหา และดูแลการพัฒนาของท้องถิ่นของตนเองอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงควรกำหนดกรอบและแนวทางของการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นแผนแม่บทชี้นำการพัฒนาแต่ละด้านอย่างสอดคล้องกันต่อไป--จบ--