กทม.เตรียมมาตรการแก้ปัญหาจราจรช่วงก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน

11 Jul 1997

กรุงเทพ--11 ก.ค.--สำนักงานเขตกรุงเทพ

วันที่ 10 ก.ค. 40 เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมเรดิสัน ถนนพระราม 9 ได้มีการเซ็นสัญญาเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินส่วนเหนือ ระหว่างองค์การรถไฟฟ้ามหานคร และกลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า ไอ โอ เอ็น โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช รองนายกรัฐมนตรี และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นสักขีพยาน

นายบำเพ็ญ จตุรพฤกษ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวภายหลังร่วมในพิธีเซ็นสัญญาว่า ปัญหาด้านการจราจรในระหว่างที่มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน จุดที่มีผลกระทบ คือ ช่วงที่มีการเปิดหน้าดินขุดวางอุปกรณ์โครงสร้างเบื้องต้นเพื่อก่อสร้างตัวสถานี อย่างไรก็ดีก่อนเข้าไปดำเนินการจะมีการเข้าไปจัดช่องจราจรชั่วคราวเบี่ยงเบนไม่ให้เป็นปัญหาการจราจรมากเกินไป รวมทั้งเมื่อขุดแล้วจะสร้างพื้นผิวจราจรชั่วคราวเพื่อให้ยวดยานผ่านไปมาได้ และการก่อสร้างต่าง ๆ จะดำเนินการใต้พื้นดิน ทั้งนี้แผนงานจัดการจราจรทุกจุดที่มีผลกระทบจะมีการวางแผนล่วงหน้าร่วมกันทุกฝ่ายก่อนดำเนินการด้วย นอกจากนี้ทางคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก โดยรองนายกรัฐมนตรี นาย สมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นประธาน ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจขึ้น โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้เพื่อกำกับดูแล และกำหนดแนวทาง ร่วมกับ สจร. และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้การจัดการจราจรชั่วคราวเกิดผลดีที่สุด

รองปลัดกทม. กล่าวต่อไปว่า นอกจากปัญหาการจัดการจราจรแล้ว กทม.ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่มีความห่วงใยในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการขุดเพื่อสร้างสถานีและอุโมงค์ใต้ดินจะต้องมีปริมาณดินจำนวนมาก กทม.จึงต้องประสานกับผู้ประกอบการให้นำดินไปทิ้งให้ห่างจากเขตกรุงเทพมหานครมากที่สุด และจะต้องไม่นำไปทิ้งบริเวณแหล่งรับน้ำชานเมืองด้วย โดยกทม. ได้เสนอกับทางผู้ประกอบการว่า กทม.มีแหล่งที่สามารถนำดินไปใช้ประโยชน์ได้ คือ ที่บริเวณชายทะเลบางขุนเทียน มีพื้นที่กว่า 2 พันไร่ ส่วนปัญหาเรื่องฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างนั้น รฟม.ได้มีมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งเป็นมาตรการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมได้กำหนดไว้เกี่ยวกับการขนย้ายกัน รวมทั้งการดูแลทำความสะอาดบริเวณก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการกวดขันด้วย สำหรับผลกระทบในเรื่องอื่น ๆ รฟม. และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ จะมีการประสานในแผนปฏิบัติ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเป็นระยะ

รองปลัดกทม. กล่าวถึงผลกระทบด้านสาธารณูปโภคระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินว่า ระบบสาธารณูปโภคบางส่วนจะต้องมีการรื้อออกเป็นการชั่วคราว แต่หลังจากก่อสร้างตัวสถานี และอุโมงค์รถไฟฟ้าเสร็จแล้วจึงจะนำกลับสู่ที่เดิม สำหรับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่จะดำเนินการต่อไป กทม.ได้เสนอแนวคิดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้ใช้ระบบท่อสาธารณูปโภครวมขนาดใหญ่ ซึ่งสะดวกในการบำรุงรักษาและการขยายบริการ ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวต้องให้กระทรวงมหาดไทยหารือในระดับสูงต่อไป

อนึ่ง โครงการรถไฟฟ้ามหานครส่วนเหนือมีระยะทางทั้งสิ้น 10 กิโลเมตร ประกอบด้วย 9 สถานี คือ เทียมร่วมมิตร ประชาราษฎร์บำเพ็ญ สุทธิสาร รัชดา ลาดพร้าว พหลโยธิน หมอชิต กำแพงเพชร และบางซื่อ ตามแผนงานคาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ ประมาณกลางปี 2541 กำหนดแล้วเสร็จและเปิดบริการได้ในปี 2546--จบ--