กรุงเทพ--25 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับสถาบันปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยผลิตวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโรคเอดส์สายพันธุ์ของไทยโดยเฉพาะ นับเป็นเครือข่ายประเทศแรกในเอเซีย หากสำเร็จจะสามารถประหยัดรายจ่ายประเทศได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท
เช้าวันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี พลเรือตรีนายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังให้การต้อนรับศาสตราจารย์ลุค มองทาเนีย (Professor Luc Montagnier) ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสจากสถาบันปาสเตอร์ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเชื่อไวรัสเอช ไอ วี คนแรกของโลก เมื่อพ.ศ. 2524 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกองทุนวิจัยเอดส์ทั่วโลก ได้เดินทางมาประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจาความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยในการจัดตั้งศูนย์การวิจัยโรคเอดส์ในเชิงป้องกันและรักษา ระหว่างประเทศไทยกับสถาบันปาสเตอร์ ซึ่งมีความก้าวหน้าทางด้านวิชาการในเรื่องไวรัสเอดส์มาก เพื่อร่วมมือกันควบคุมป้องกันโรคเอดส์ โดยศูนย์วิจัยที่จะจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ครั้งนี้นับว่าเป็นแห่งแรกของเอเชีย ซึ่งไทยยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ในการร่วมมือดังกล่าว จะเน้นที่การศึกษาพัฒนาวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันและยารักษาผู้ที่ติดเชื้อเอดส์สายพันธุ์อี ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยมากกว่า 80% และยังไม่มีการคิดค้นตัวยาหรือวัคซีนสำหรับใช้กับสายพันธุ์นี้ โดยศาสตราจารย์ลุค ได้ให้ความสนใจประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีระบบการบริหารจัดการเอดส์ที่ดีมากแห่งหนึ่ง และไม่ปิดบังข้อมูลเอดส์
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือนั้น จะดำเนินการในภาพรวมของการระดมความร่วมมือจากนักวิชาการ นักไวรัสวิทยา จากทบวงมหาวิทยาลัยได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้แก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมควบคุมโรคติดต่อ โดยมีฐานใหญ่อยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีสาขาย่อยอยู่ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดเชียงใหม่
โดยพื้นที่ดำเนินการ จะร่วมกันศึกษาที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน เนื่องจากเป็นพื้นฐานที่มีปัญหามากที่สุดในประเทศ ซึ่งในวันที่ 25 กรกฏาคม 2540 ศาสตราจารย์ลุค จะเดินทางไปที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร และที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อศึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์ในพื้นที่ หลังจากนั้นจะนำข้อสรุปมาร่วมหารือกับคณะวิจัยของไทยอีกครั้งในวันที่ 26 กรกฏาคม เพื่อกำหนดรายละเอียดในความร่วมมือต่อไป
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า ปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อเอดส์แล้วประมาณ 9 แสนราย แม้ว่าอัตราการติดเชื้อเอดส์รายใหม่ของไทยจะชะลอตัวลงก็ตาม แต่เรื่องที่รัฐบาลและชุมชนจะต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง คาดประมาณว่าในปี พ.ศ. 2553 ไทยจะมีผู้ป่วยโรคเอดส์เพิ่มขึ้นถึง 8 แสนราย และคาดว่าจะมีเด็กติดเชื้อเอดส์จำนวน 2 แสนราย ซึ่งขณะนี้นับตั้งแต่พ.ศ. 2527-สิ้นเดือนพฤษภาคม 2540 เรามีผู้ป่วยเอดส์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่แล้วใกล้ 9 หมื่นราย ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนหรือยารักษาได้เอง เราก็ช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ไม่ให้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ ซึ่งจะสามารถลดรายจ่ายของประเทศได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาททีเดียว
ทางด้านนายแพทย์มงคล ณ สงขลา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับต่างประเทศในการศึกษาวิจัยโรคเอดส์
เพื่อก้าวไปสู่การผลิตวัคซีนหรือยารักษาผู้ป่วยหรือผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ของประเทศไทย เป็นการเฉพาะ โดยมีความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาคือศูนย์ควบคุมโรคติดต่อหรือซีดีซี
เพื่อหาวิธีทำลายเชื้อไวรัสเอดส์ และกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับใช้กับสายพันธุ์อี ซึ่งในการผลิตวัคซีนร่วมกับญี่ปุ่นนี้จะใช้เวลาศึกษา 4 ปี งบประมาณ 220 ล้านบาท โดยเป็นงบฝ่ายไทยเพียง 47 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินช่วยเหลือจากประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งจะทำสัญญาความร่วมมือในต้นเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ในการร่วมมือกับต่างประเทศครั้งนี้จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนตัวอื่นในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit