สธ.ยัน 6 จังหวัดภาคใต้ปลอดมลพิษฝุ่นไฟไหม้ป่าจากอินโดนีเซียแล้ว

07 Oct 1997

กรุงเทพ--7 ต.ค.--สธ.

กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลจากการเฝ้าระวังไฟไหม้ป่าประเทศอินโดนีเซียว่า ใน 6 จังหวัดภาคใต้ ที่เคยมีปัญหาฝุ่นรุนแรง ขณะนี้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ดี ในส่วนของคุณภาพน้ำฝน ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างต่อนเอง โดยในวันนี้ได้จัดส่งชุดตรวจคุรภาพน้ำฝนภาคสนาม 56 ชุด ไปให้ 14 จังหวัดภาคใต้ คาดว่าอีก 1-2 วัน จะทราบผลทั้งหมด เตือนหากพบมีหมอกควันปกคลุมอีก ขอให้ประชาชนงดการใช้น้ำฝนทันที

นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ของฝุ่นใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเกิดจากไฟไหม้ป่าจากประเทศอินโดนีเซียว่า จากรายงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากมลพิษทางอากาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2540 จนถึง 12.00 น.ของวันนี้ ( 6 ตุลาคม 2540) พบว่าผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กใน 6 จังหวัด ซึ่งเคยมีปัญหารุนแรงมาก่อน ได้แก่ สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ยะลา และตรัง มีระดับปริมาณฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน ผลสรุปโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีถึงปานกลาง โดยจังหวัดที่มีคุณภาพอยู่ในขั้นดีมี 3 จังหวัดคือ สุราษฎร์ธานี ยะลา และตรัง ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นปานกลาง

ในส่วนผลการตรวจวัดก๊าซที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝนกรดคือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อยู่ในปริมาณที่ต่ำมาก ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ทางด้านรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าทุกจังหวัดในภาคใต้มีทัศนวิสัยดี ไม่มีหมอกควันปกคลุม และมีฝนตกในหลายจังหวัด อาทิ สตูล นราธวาส ภูเก็ต ทำให้อากาศดีขึ้นอยู่ในสภาพปกติตามฤดูกาล

ทางด้านนายแพทย์ปรากรม วุฒิพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ กล่าวว่า ทางด้านข้อมูลผู้ป่วยที่มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ ที่เข้ารับการรักษาของสถานบริการสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยสูงผิดปกติแต่อย่างใด สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังต่อเนื่องขณะนี้ก็คือ เรื่อของคุณภาพน้ำฝน ว่าจะมีความเป็นกรดหรือไม่ โดยในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งคู่มือการตรวจคุณภาพน้ำฝน และชุดตรวจความเป็นกรดด่างของน้ำฝน จำนวน 56 ชุด ไปให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดในภาคใต้ จังหวัดละ 4 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วย ขวดแก้ว และกรวยกรองน้ำฝนกลางแจ้ง 4 ชิ้น ซึ่งเมื่อได้น้ำฝนแล้วจะสามารถตรวจค่าความเป็นกรดได้ทันที คาดว่าจะทราบผลพร้อมกันในอีก 1-2 วันนี้ และจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป

นายแพทย์ปรากรม กล่าวอีกว่า สำหรับการนำน้ำฝนมาบริโภคขณะนี้ มีข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับประชาชนทั่วไปในภาคใต้ คือ ควรปล่อยให้ฝนตกลงมาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนรองน้ำมาใช้ และหากมีเมฆควันปกคลุมอีก ก็ให้งดการรองน้ำฝนโดยทันที และให้สังเกตด้วยว่า หากน้ำฝนที่รองกลางแจ้งมีรสชาดฝาดหรือเปรี้ยว หรือมีกลิ่นผิดปกติ ให้งดเว้นการรองน้ำฝนเช่นกัน--จบ--