สธ.มีนโยบายให้จัดตั้งคลีนิคคลายเครียดในทุกจังหวัด

27 Oct 1997

กรุงเทพ--27 ต.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้จัดตั้งคลีนิคคลายเครียดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ครบทุกแห่งในปีงบประมาณ 2541

นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการสำรวจสุขภาพจิตของประชาชนทั่วไป พบประชาชนมีความเครียดประมาณร้อยละ 27 หลังจากเดือนกรกฎาคม 40 เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องพบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นในวันที่ 18 สิงหาคม กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจสภาวะสุขภาพจิตประชาชนอีกครั้งทางโทรศัพท์ จำนวน 1,000 คน พบมีความเครียดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 39 และเมื่อต้นเดือนตุลาคม มีภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น จึงมีการสำรวจสภาวะสุขภาพจิตในกลุ่มนักธุรกิจ จำนวน 573 คน อีกครั้งพบว่าร้อยละ 80 มีความเครียด

จากการคาดการณ์ของนักจิตวิทยา เชื่อว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ภาวะความเครียดของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ตกงานจะสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายที่จะให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ นอกเหนือจากหน่วยงาน/โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต ที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว 13 แห่ง ตั้งคลีนิคคลายเครียดให้เป็นที่พึ่งทางใจ อันจะเป็นการช่วยพยุงสถานภาพทางจิตใจของประชาชนที่ประสบปัญหา โดยมีเป้าหมายจะให้ครบทุกแห่งในปีงบประมาณ 2541 นี้

นายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ความเครียดเรื้อรังจนเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศรีษะ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นสัญญาณเตือนว่า บุคคลนั้นเริ่มประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต หากไม่รีบหาทางช่วยเหลือและแก้ไข จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น จนอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ กรมสุขภาพจิตมีความเห็นว่ามีความจำเป็นต้องตั้งคลีนิคคลายเครียด ณ สถานบริการสาธารณสุขในทุกจังหวัด เพื่อให้การดูแลสุขภาพใจประชาชน ควบคู่ไปกับการให้บริการสุขภาพกายได้อย่างดีในสภาวะเช่นนี้

เมื่อปีงบประมาณ 2540 กรมสุขภาพจิตได้จัดอบรมให้บริการด้านจิตเวชแก่บุคคลในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป สังกัดกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว 65 จังหวัด และในปีงบประมาณนี้จะดำเนินการอบรมต่อเนื่องให้ครบทุกจังหวัด เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ไปดำเนินการจัดตั้งคลีนิคคลายเครียด หรือคลีนิคจิตเวชในโรงพยาบาลของตน

นายแพทย์ธงชัย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีทั่วประเทศ 92 แห่ง พบว่ามีการจัดตั้งคลีนิคคลายเครียดและเปิดให้บริการประชาชนแล้ว 30 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 10 แห่ง การให้บริการในคลีนิคคลายเครียดเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการให้คำปรึกษา แนะนำให้ผู้ป่วยรู้จักคลายเครียดด้วยตนเอง เพื่อลดความกดดันด้านจิตใจ โดยให้ผู้ที่มีปัญหาฟังเทปคลายเครียดและปฏิบัติตัวตามเทป เป็นการผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเอง ในโรงพยาบาลบางแห่งอาจจะมีอุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้ก็ได้ เช่น มีเก้าอี้คลายเครียด อุปกรณ์คลายเครียดอื่น ๆ เป็นต้น

กรมสุขภาพจิตพร้อมที่จะให้การสนับสนุน โรงพยาบาลทุกแห่งที่ต้องการจัดตั้งคลีนิคคลายเครียด โดยเราจะมีคู่มือการดำเนินการให้ ให้คำแนะนำในการจัดตั้ง จัดส่งอุปกรณ์ที่จะเป็นให้ เช่น เทปคลายเครียด หนังสือคู่มือคลายเครียด วัสดุอุปกรณ์และสื่อที่ใช้ในการคลายเครียด นายแพทย์ธงชัย กล่าวในตอนท้าย--จบ--