กรุงเทพ--2 ก.ย.--กรมควบคุมโรคติดต่อ
จากการแถลงข่าวเรื่อง "ภัยร้ายจากยาปฎิชีวนะ" พญ.ประมวญ สุนากร ที่ปรึกษางานควบคุมโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก, กองวัณโรค, กรมควบคุมโรคติดต่อ และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก ยืนยันว่ายาปฎิชีวนะไม่มีประโยชน์ในการรักษาโรคหวัดเผยรณรงค์แนวทางการรักษาที่ถูกต้องได้ผลในต่างจังหวัด แต่ในกรุงเทพฯ กลับยังใช้ยาปฎิชีวนะในเด็กที่เป็นหวัดกันอย่างฟุ่มเฟือย
พญ.ประมวญกล่าวว่า
ผลการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศพิสูจน์ชัดเจนมานานแล้วว่า การรักษาโรคหวัดที่มีประสิทธิภาพไม่จำเป็นต้องพึ่งยาปฎิชีวนะใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากหวัดเกิดจากเชื้อไวรัสแต่ยาปฎิชีวนะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรีย จึงเป็นการใช้ยาโดยไม่มีผลต่อการรักษาแต่อย่างใด แต่กลับจะเป็นการเร่งปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ดังกรณีที่มีข่าวในสหรัฐอเริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เฉพาะในเด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบ จำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ทั่วประเทศ เฉลี่ยเป็นหวัดคนละ 5 ครั้งต่อปี หากแต่ละครั้งใช้ยาปฎิชีวนะโดยเฉลี่ย 20 บาท ความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นจะมีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านบาท
ที่ผ่านมางานโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ กองวัณโรค โดยการสนับสนุนจากยูนิเซฟได้จัดทำแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อเฉลียบพลันระบบหายใจในเด็กของประเทศไทยขึ้นเมื่อปี 2539 เพื่อเป็นแนวทางมาตรฐานระดับชาติ (National Guideline) ที่เหมาะสม และรณรงค์ให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขในการรักษาพยาบาลโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในเด็กมากอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่าในระดับโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยสามารถลดการใช้ยาปฎิชีวนะในเด็กที่เป็นโรคหวัดได้จาก 56-63% ในปี 2533 เหลือ 34-38% ในปี 2538 อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเป็นรายโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครยังมีการใช้ยาปฎิชีวนะในอัตราสูงกว่าในต่างจังหวัด
ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินหายใจในเด็กได้เรียกร้องให้แพทย์งดการให้ยาปฎิชีวนะที่ไม่จำเป็น ส่วนผู้ปกครองไม่ควรเรียกร้องให้แพทย์จ่ายยาปฎิชีวนะให้หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่จำเป็นต้องใช้และไม่ควรซื้อยาปฎิชีวนะกินเอง--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit