กรุงเทพ--3 ก.ย.--สธ.
กระทรวงสาธารสุข ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่รองรับน้ำทิ้งจากสถานบริการรักษาพยาบาลในสังกัด 5 แห่ง เพื่อปรับสภาพน้ำและฆ่าเชื้อโรงก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายสาธารณะและลงสู่เจ้าพระยา
พลเรือตรีนายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดระบบบำบัดน้ำเสียที่โรงพยาบาลราชวิถีเมื่อเช้าวันนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนองนโยบายรัฐบาลในการร่วมกันอนุรักษ์สภาวะแวดล้อมให้คงความเป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยได้จัดสรรงบประมาณในปี 2537 จำนวน 197 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารหอพัก 18 ชั้นซึ่งในอาคารนี้ชั้นที่ 1-4 จะเป็นหน่วยบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่มูลค่าก่อสร้าง 77 ล้านบาท โดยจะรองรับน้ำทิ้งที่มาจากห้องสุขา ห้องปฏิบัติการชันสูตรโรค ห้องผ่าตัด ห้องชันสูตรศพและหอผู้ป่วยทั้งหมด จากโรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันพยาธิวิทยา สถาบันโรคผิวหนัง และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันและอยู่ในใจกลางกรุงเทพมหานคร นับว่าเป็นระบบบำบัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้ สามารถบำบัดน้ำเสียได้วันละ 3,200 ลูกบาศก์เมตร ก่อนปล่อยออกสู่ท่อระบายสาธารณะ ซึ่งระบบดังกล่าวนี้สามารถรองรับการขยายตัวของโรงพยาบาลได้ในอนาคตอีกด้วย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า
โรงพยาบาลนับว่าเป็นแหล่งรวมผู้ป่วยด้วยสาเหตุจากโรคต่าง ๆ จำนวนมาก น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากโรงพยาบาล เป็นน้ำที่มีค่าความสกปรกสูง โดยมีค่าความเสียของน้ำที่วัดโดยวิธีทางเคมีแระมาณ 430 มิลลิกรัมต่อลิตร หากไม่ผ่านระบบการบำบัดที่มีประสิทธิภาพก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายสาธารณะแล้ว จะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคไปสู่สาธารณชน เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และยังเป็นการทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา โดยที่ผ่านมาพบว่าน้ำทิง้จากโรงพยาบาลเป็นต้นเหตุทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสียร้อยละ 3
ประการสำคัญระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลจะแตกต่างจากระบบบำบัดของโรงงานหรือตามแหล่งชุมชนทั่วไปคือ ต้องมีระบบฆ่าทำลายเชื้อโรคทุกแห่ง ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพการบำบัดอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน โดยมีค่ามาตรฐานน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วคือจะต้องมีค่าความสกปรกต่ำกว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ม่ค่าความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง 5-9
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอีกว่า โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันโรคผิวหนัง นั้นมีประชาชนที่เจ็บป่วยเข้าไปใช้บริการรวมกันเฉลี่ยวันละ 6,000 ราย โดยน้ำทิ้งที่มาจากอาคารบริการต่าง ๆ จะผ่านบ่อดักไขมันและบ่อดักกลิ่น ก่อนที่จะเข้าสู่บ่อรวมใหญ่ ซึ่งน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้งหมด สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะการใช้ล้างทำความสะอาดพื้น ล้างถนน หรือใช้รดน้ำต้นไม้แทนการใช้น้ำประปา ช่วยประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี--จบ--
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit