กรุงเทพ--15 ก.ย.--จุฬาฯ
หน่วยปฏิบัติการวิจัยทางภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชดำริจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิราชสุดา ให้จัดทำระบบการอ่านออกเสียงภาษาไทยสำหรับคนตาบอด ในการนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นความสำคัญของการให้บริการวิชาการแก่คนตาบอด ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากสังคม จึงได้จัดสรรทุนสิ่งประดิษฐ์แก่คณะผู้วิจัยให้ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นโครงการะยะเวลา 2 ปี คณะผู้วิจัยประกอบด้วยคณาจารย์ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยราชสุดา โดยมี ผศ.ดร.สุดาพร ลักษณียนาวิน หัวหน้าภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ มี รศ.ดร.เอกชัย ลีลารัศมี จากคณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้ร่วมวิจัย ผู้ช่วยวิจัยประกอบด้วย อ.ณัฐกร ทับทอง จากคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.วีระแมน นิยมผล จากวิทยาลัยราชสุดาฯ ร่วมด้วยนายสุวัฒน์ อัศวไชยชาญ นายวิเชียร แซ่โล้ว และนายจิระศักดิ์ ปิยพสุนทรา
คณะผู้วิจัยได้ทำการทดสอบระบบในชั้นที่ 1 (Alpha Test) ในห้องปฏิบัติการเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้พัฒนาระบบที่สำคัญ 3 ระบบคือ
1. ระบบประมวลคำพูดให้เป็นหน่วยเสียง และระบบการสังเคราะห์เสียง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผู้ใช้สามารถพกพาไปได้ เรียกว่า ซียูทอล์ค (CU Talk)
2. ระบบการอ่านจอภาพ ซึ่งเป็นโปรแกรมแบบฝังตัว (resident program) ทำงานภายใต้ระบบการปฏิบัติ DOS เรียกว่า ซียูเอสซีบี (CUSCB-Screenreader for the Blind)
3. ระบบการพิมพ์และแก้ไขข้อความ ซึ่งเป็นโปรแกรมง่ายๆ ที่ใช้ในการพิมพ์และพิสูจน์อักษรด้วยการฟัง เรียกว่า ซียูเท็บ (CUTEB- Text Editor for the Blind)
เพื่อให้ผลการวิจัยนี้นำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในผู้ใช้จริง คณะวิจัยจึงจัดให้มีการอบรมการใช้ระบบดังกล่าวในผู้ใช้จริง โดยได้คัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นอาจารย์ตาบอดจากโรงเรียน สถาบัน และศูนย์การศึกษา สำหรับคนตาบอดจากภูมิภาคต่างๆ ที่มีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์บ้าง มารับการอบรมในครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2540 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นประบวนการหนึ่งในขั้นประเมินผลการใช้ขั้นที่ 2 (Beta Test) ในผูใช้จริง ผลจากการอบรมครั้งนี้ จะทำให้คณะผู้วิจัยทราบข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นในการใช้จริงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ ที่ผู้เข้ารับการอบรมมีอยู่ในสถานการณ์จริงๆ คณะผู้วิจัยจะได้นำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขระบบต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการเริ่มต้นที่จะทำให้คณะผู้เข้ารับการอบรมมีความชำนาญในการใช้ระบบเหล่านี้ เพื่อนำไปอบรมขยายผลต่อไปได้ในอนาคตทั้งนี้คณะผู้วิจัยจะมอบ "ซียูทอล์ค" พร้อมระบบการการอ่านจอภาพทั้ง 2 ระบบแก่ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนเพื่อประเมินการใช้และแนะนำไปใช้ในการสอนคนตาบอดต่อไป--จบ--