สวช.ประชุมโรงเรียนนำร่องโครงการ "พัฒนาจิตพิสัยในระบบการเรียนการสอน" สู่การปฎิบัติเป็นรูปธรรมใน 4 ภูมิภาค

13 Jun 1997

กรุงเทพ--13 มิ.ย.--สวช.

นายพยุงศักดิ์ จันทรสุรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า จากที่ นายสุขวิช รังสิตพล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานในพิธีการเปิดการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง แนวคิด หลักการ และกระบวนการพัฒนาจิตพิสัยในระบบการเรียนการสอน จิตพิสัย : มิติสำคัญของการพัฒนาคน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540 ที่ผ่านมา พร้อมได้มอบหมายให้ สวช.ร่วมกับกรมต่างๆ และสถานศึกษาดำเนินการสร้างรูปแบบการพัฒนาจิตพิสัยให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนปฏิบัติการให้เป็นรูปธรรมนั้น ขณะนี้ สวช.ได้จัดทำคู่มือ กิจกรรม และสื่อเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการพัฒนาจิตพิสัยในแต่ละระดับการศึกษา 4 ระดับ คือ ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเพื่อให้คู่มือและสื่อดังกล่าวในผลในทางปฏิบัติจริงและสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สวช.จึงได้จัดประชุมผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ ศึกษานิเทศก์ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนที่คัดเลือก 20 โรงเรียนใน 4 ภูมิภาค คือ พิษณุโลก ขอนแก่น ราชบุรี และสุราษฎร์ธานี จำนวน 150 คน เมื่อวันที่ 7-10 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อทำความใจในการทดลองนำคู่มือและสื่อดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาจิตพิสัยในระบบการเรียนการสอน อันถือเป็นโรงเรียนนำร่อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาคู่มือและสื่อดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจะได้นำไปขยายผลต่อไปในระดับประเทศ

สำหรับองค์ประกอบจิตพิสัยหรือคุณลักษณะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่จะสร้างให้มีเด็กและเยาวชนอันเป็นมิติที่จะพัฒนาคนและสังคมให้อยู่รอดที่จะดำเนินการในโครงการนำร่อง มีองค์ประกอบ 5 ประการคือ

1. ความสนใจใฝ่รู้และสร้างสรรค์

2. ความมีน้ำใจ

3. ความมีวินัย

4. ความเป็นไทย

5. การบริโภคด้วยปัญญาในวิถีชีวิตไทย--จบ--