มหาวิทยาลัยริมแปซิฟิคยกจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำ เชิญร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการก่อตั้งสมาคม

18 Jun 1997

กรุงเทพ--18 มิ.ย.--จุฬาฯ

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมมหาวิทยาลัยริมแปซิฟิคขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเซาท์เทริน์ แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เจ้าภาพร่วมอีก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบริคเล่ย์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ลอสแองเจลลิส และสถาบันเทคโนแห่งแคลิฟอร์เนีย ในการนี้ได้เชิญอธิการบดีของมหาวิทยาลัย (โดยไม่อนุญาตให้ส่งผู้แทน) เข้าร่วมประชุม 36 มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในแปซิฟิคริมทั้งสิ้น การเลือก 36 มหาวิทยาลัยนี้ เจ้าภาพทั้ง 4 สถาบันเอาเกณฑ์การเลือกมหาวิทยาลัยวิจัยระดับแนวหน้าของประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมและอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม ในการปรึกษาหารือจุดยืนร่วมกัน และได้มีโอกาสทำความรู้จักคุ้นเคยกัน เพื่อความร่วมมือกันในทางวิชาการ ในทุกวิถีทางต่อไปในอนาคต และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติเป็นสมาชิกก่อตั้งและร่วมเป็นคณะกรรมการก่อตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยแปซิฟิคริมด้วย (Association of Pacific Rim University หรือ APRU) นับเป็นอธิการบดี 1 ใน 7 ของคณะกรรมการทั้งหมดที่ได้รับเลือกจากที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยอธิการบดีของสถาบันต่างๆ ดังนี้ คือ มหาวิทยาลัยเซาท์เทริน์แคลิฟอร์เรนีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งชาติแม็กซิโก มหาวิทยาลัยแห่งชาติเซอูล มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ซานดาบาร์บาร่า มหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย

คณะกรรมการก่อตั้งทั้ง 7 นี้ จะทำหน้าที่ประสานงานและเตรียมการต่างๆ แทน APRU วางระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีดำเนินงานต่างๆ ของสมาคมต่อไป ทั้งนี้ กลุ่มหมาวิทยาลัยที่มาร่วมประชุมจะร่วมกันเสนอต่อที่ประชุม APEC ที่จะมีขึ้นในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ในเดือนพฤศจิกายน 2540 ให้พิจารณารับรองการที่ประเทศต่างๆ จะต้องร่วมมือกันทุ่มเทพัฒนาอุดมศึกษาการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังและเร่งรีบ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาร่วมกันในกลุ่มแปซิฟิคริม โดยมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำต่างๆ เหล่านี้ นอกจากนี้ที่ประชุมยังกำหนดให้ APRU ประชุมกันอย่างน้อยปีละครั้ง ครั้งต่อไปกำหนดไว้ประมาณสัปดาห์ที่ 1 หรือ 2 ของเดือนมิถุนายน ปีหน้า ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสนอรับเป็นเจ้าภาพการประชุมไว้แล้ว--จบ--