กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระดมทีม SEhRT ทุกระดับ เร่งลงพื้นที่จังหวัดประสบภัยภาคใต้ เฝ้าระวังสุขภาพประชาชน และเตรียมความพร้อมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย มีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ จึงมอบหมายนายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย ส่งทีมปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อมหรือทีม SEhRT ทุกระดับเข้าพื้นที่น้ำท่วม 7 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 2 แสนครัวเรือน โดยให้เร่งดูแลจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ การปรับปรุงคุณภาพน้ำใช้เบื้องต้น การสำรวจ ประเมินการปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งอาหารและน้ำ การดูแลระบบสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมในศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยงโรคติดต่อหรือโรคระบาด
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทีม SEhRT ที่มีการลงพื้นที่เข้าร่วมภารกิจร่วมกับหน่วยงานส่วนจังหวัดขณะนี้ประกอบด้วยทีม SEhRT จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ได้เข้าช่วยเหลือจัดสภาพแวดล้อมของประชาชนให้มีความปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงสุขภาพ ด้วยการส่งเสริมให้ใช้ชุดเราสะอาด (V-Clean) ซึ่งได้สนับสนุน จำนวน 500 ชุด สำหรับปรับปรุงคุณภาพน้ำให้สะอาดปราศจากเชื้อโรคสามารถใช้น้ำได้อย่างปลอดภัยช่วงน้ำท่วม และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและเวชภัณฑ์ยา ได้แก่ ชุดดูแลสุขอนามัย (Sanitation tool kit) จำนวน 40 ชุด ส้วมกระดาษ จำนวน 240 ชุด ชุดยาสามัญสำหรับผู้ประสบภัย จำนวน 550 ชุด พร้อมถุงดำสำหรับจัดการขยะ จำนวน 541 ชุด สารส้ม 1 กิโลกรัม จำนวน 401 ชุด โซดาไฟ 1 กิโลกรัม จำนวน 135 ชุด ปูนขาว 100 กรัม จำนวน 94 ขวด หยดทิพย์ (คลอรีนน้ำ 2 เปอร์เซ็นต์ อ.32 จำนวน 79 ขวด รวมทั้งให้คำแนะนำในการป้องกันตนเองสำหรับประชาชนในภาวะน้ำท่วม
นอกจากนี้ ขณะนี้แต่ละจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวในหลายพื้นที่ เพื่อรองรับผู้ประสบภัยที่มีจำนวนมากขึ้นทุกวัน และทีม SEhRT ได้ทำการสำรวจ ประเมิน และจัดกระบวนการเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งการจัดการขยะ การจัดการส้วมสิ่งปฏิกูล การจัดการคุณภาพน้ำใช้ การประเมินการปนเปื้อนเชื้อโรคด้วยการจัดการสุขาภิบาลอาหารที่ได้มาตรฐาน การจัดการน้ำเสีย/น้ำทิ้ง รวมทั้งการส่งเสริมให้มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว อาทิ การจัดมุมให้นมลูก การเสริมความรู้หญิงตั้งครรภ์ การเสริมทักษะและพัฒนาการเด็กเล็ก และการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตในศูนย์พักพิงชั่วคราวได้อย่างปลอดภัย มีสุขอนามัย และสุขภาพที่ดี สำหรับบางพื้นที่ที่สถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ กรมอนามัย ทีม SEhRT โดยศูนย์อนามัยที่ 12 ลงพื้นที่จัดการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ในระยะฟื้นฟูในชุมชน ตลาด สถานประกอบการ สถานทีสาธารณะ และระบบประปา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งสื่อสารให้คำแนะนำการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม และดูแลสุขภาพของประชาชน
"ทั้งนี้ ในช่วงเวลานี้ระดับน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หรือลงในจุดที่น้ำท่วมสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย และเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เด็กเล็กไม่ควรปล่อยให้เล่นใกล้บริเวณน้ำท่วม หากน้ำไหลหลาก น้ำท่วมเฉียบพลัน ไม่ควรเดินลุยน้ำ และขับรถฝ่าน้ำท่วม อาจถูกกระแสน้ำพัดพา จนจมน้ำและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ควรระมัดระวังสัตว์มีพิษกัดต่อย ควรถอดปลั๊กไฟต่าง ๆ ภายในบ้านบริเวณที่จมน้ำ และตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นที่มีน้ำท่วมขัง เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่วซึมหรือลัดวงจร หากท่านใดพบผู้ประสบอุบัติเหตุให้ตั้งสติ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ก่อนโทรแจ้งสายด่วน 1669 และนำส่งโรงพยาบาลทันที" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit