"กรมอนามัย" ยกระดับให้บริการคนพิการ จับมือภาคีเครือข่าย พัฒนาบุคลากรส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหว เพื่อปรับพฤติกรรมห่างไกลโรค

03 Dec 2024

นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนานักส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายวัยทำงาน (4 ภาค) ประจำภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 28-29 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเดอะสเปซ ลำปาง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นนักส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายคนทำงานประจำภาคเหนือ ด้วยหลักสูตร 13 ชม.สุขภาพดี มี.ไว้.ใช้. โดยมีศูนย์อนามัยและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดร่วมสนับสนุนเป็นทีมพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาให้เกิดศูนย์บริการคนพิการทั่วไปต้นแบบการส่งเสริมสุขภาพคนพิการฯ ร่วมสร้างให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ สู่การมีสุขภาพดี ห่างไกลโรค ในพื้นที่กลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 70 คน ประกอบด้วยศูนย์บริการคนพิการทั่วไป สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ศูนย์อนามัย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมาย ใน 3 ระดับ คือ 1. ระดับการเปลี่ยนแปลง ทำให้นักส่งเสริมสุขภาพคนพิการ มีความรู้ตามหลักเพิ่มขึ้น สามารถนำความรู้ทักษะ ประยุกต์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น เช่น มีรอบเอวที่เล็กลง 2. ระดับพัฒนา มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในการดูแลสุขภาพ สามารถแนะนำบอกต่อคนรอบข้าง 3. ระดับการสร้างผลกระทบ สามารถประสานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหนุนเสริม เชื่อมโยง หรือร่วมมือขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพคนพิการ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับเขตสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้น

"กรมอนามัย" ยกระดับให้บริการคนพิการ จับมือภาคีเครือข่าย พัฒนาบุคลากรส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหว เพื่อปรับพฤติกรรมห่างไกลโรค

นายแพทย์ปกรณ์ กล่าวว่า รูปแบบการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย การพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากรและการสื่อสารเพื่อพัฒนานักส่งเสริมสุขภาพคนพิการ การแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติเพื่อออกแบบการสอนเนื้อหาตามหลักสูตร 13 ชม. มี.ไว้.ใช้. ซึ่งผลสัมฤทธิ์ในการจัดประชุมคือ 1. ได้นักส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายวัยทำงาน ประจำภาคเหนือ ที่สามารถเป็นผู้นำในการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกาย 2. เกิดโครงการส่งเสริมสุขภาพคนพิการฯ จากศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ที่สามารถขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพคนพิการฯ ในระดับพื้นที่และพัฒนาเป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพคนพิการฯต้นแบบต่อไป 3. เกิดทีมพี่เลี้ยงงานส่งเสริมสุขภาพคนพิการฯ ที่มาจากศูนย์อนามัยและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ประจำภาคเหนือแผนการขับเคลื่อนงานต่อไป เป็นการลงพื้นที่เยี่ยมเสริมพลังศูนย์ส่งเสริมสุขภาพคนพิการฯ ที่ขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพคนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายวัยทำงานด้วยหลักสูตร 13 ชม. สุขภาพดี มี.ไว้.ใช้.ต่อไป