สคร.12 สงขลา เตือน ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง เฝ้าระวังฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง เสี่ยงป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรสิส โรคเมลิออยโดสิส และโรคไข้เลือดออก

13 Nov 2024

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและมีน้ำท่วมขัง เสี่ยงป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรสิส โรคเมลิออยโดสิส และโรคไข้เลือดออก อันตรายถึงชีวิต

สคร.12 สงขลา เตือน ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง เฝ้าระวังฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง เสี่ยงป่วยด้วยโรคเลปโตสไปโรสิส โรคเมลิออยโดสิส และโรคไข้เลือดออก

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลากล่าวว่า เนื่องด้วยขณะนี้บางพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนตกหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมขัง สคร.12 สงขลา ห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ขอให้เตรียมความพร้อมหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ด้วยการติดตามข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่วมอย่างสม่ำเสมอ พร้อมเน้นย้ำให้ระวังป่วยด้วย โรคเลปโตสไปโรสิส โรคเมลิออยโดสิส และโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนและมีน้ำท่วมขัง

โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู เชื้อโรคนี้อยู่ในแหล่งน้ำ พื้นดินชื้นแฉะที่ปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ที่เป็นแหล่งโรค โดยเฉพาะน้ำที่ท่วมขัง หากประชาชนเดินลุยน้ำ ย่ำดินโคลน ด้วยเท้าเปล่า อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่ม มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ ที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด หากไม่ได้รับการรักษาหรือเข้ารับการรักษาล่าช้าจะทำให้เกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) หรือโรคเมลิออยด์ พบเชื้อในดิน ฝุ่นดิน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ สามารถติดเชื้อผ่านทางเยื่อบุตา-จมูก-ปาก บาดแผลผิวหนัง ผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน การดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด หรือการหายใจเอาฝุ่นดินที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป สัตว์อาจติดเชื้อป่วยและตายจากโรคเมลิออยโดสิสได้ แต่คนจะติดเชื้อจากสัตว์ได้น้อยมาก เช่น สัมผัสสารคัดหลั่ง หรือรับประทานเนื้อ นมจากสัตว์ที่เป็นโรคโดยไม่ผ่านการปรุงสุก ทั้งนี้ หากมีไข้สูง เป็นเวลานานเกิน 3 วัน หรือเกิดแผลฝีหนองตามร่างกาย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง

ทั้งสองโรคดังกล่าว สามารถป้องกันได้ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูท กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และรีบทำความสะอาดร่างกายทันทีหลังจากลุยน้ำ 2.ล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ 3.รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ อาหารที่ค้างมื้อควรอุ่นให้เดือดก่อนนำมารับประทาน 4.ดูแลทำความสะอาดที่พักให้สะอาด 5.หากมีไข้สูง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อที่น่อง หลังจากสัมผัสพื้นที่น้ำขัง หรือดินที่มีโอกาสปนเปื้อนปัสสาวะหนู วัว ควาย หมู สุนัข และแพะ ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงให้ทราบ เพื่อพิจารณาการรักษาได้อย่างถูกต้อง

สำหรับโรคไข้เลือดออก พบผู้ติดเชื้อมากในช่วงหน้าฝน และโดยเฉพาะหลังน้ำลด ซึ่งอาจมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ขอให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง สะอาด ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนกางมุ้ง หากประชาชนมีอาการไข้สูงร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ ห้ามซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโครฟีแนก และแอสไพริน รวมถึงยาชุด มีผลทำให้เลือดออกในช่องทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

สำหรับโรคไข้เลือดออก ป้องกันด้วย "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ดังนี้ 1.เก็บบ้าน ให้สะอาด 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน และ 3.เก็บน้ำ ปิดฝาให้มิดชิด ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ สามารถป้องกันได้ทั้ง 3 โรค (โรคไข้เลือดออก, โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

HTML::image(