ในยุคที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังกลายเป็นหัวข้อร้อนแรงและเป็นเครื่องมือสำคัญในหลากหลายวงการ หนึ่งในนั้นคือวงการการศึกษา ซึ่งเห็นได้ว่ามีหลายประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยขึ้นทั้งการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือ AI บทบาทของ AI ที่จะมาแทนอาชีพครู นักเรียนนักศึกษายุคใหม่ที่ใช้ AI ในการทำงาน ข้ามไปถึงการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลายที่อาจทำลายจริยธรรมทางวิชาการในอนาคต
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามแล้วว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ และทำหน้าที่ในการเรียนการสอนได้จริงหรือไม่? ผู้รันวงการการศึกษาของไทยอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงอยากพาไปเจาะลึกบทบาท AI ในภาคการศึกษาผ่านมุมมองของ ผศ. ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.สานุช เสกขุนทด ณ ถลาง ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล คณะศิลปศาสตร์ ที่จะมาอินไซต์และบอกเล่าประสบการณ์การใช้ AI ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ไปดูพร้อมกันเลยว่า จะท้าทายแนวคิดการใช้เทคโนโลยีในภาคการศึกษาไทยอย่างไรกันบ้าง…
Generative AI เครื่องมือสุด Mass ที่ช่วยลดความซ้ำซ้อนของการเรียน "สายวิทย์"
อย่างที่เรารู้กันว่างานของครูและอาจารย์ มิได้มีแค่งานสอนในห้องเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีงานส่วนอื่น ๆ ที่เป็นหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น การจัดการเรียนการสอน การดูแลให้คำแนะนำผู้เรียน การพัฒนาตนเอง หรือแม้แต่งานบริการ โดย อาจารย์เจี๊ยบ-ผศ. ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร ได้เล่าถึงประโยชน์ของ AI ในด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า AI ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานของครูและอาจารย์ในหลายด้าน โดยเฉพาะงานที่ใช้เวลามาก คือ สามารถช่วยออกแบบแผนการสอนได้โดยการวิเคราะห์เนื้อหาและจัดสรรข้อมูลให้ตรงกับมาตรฐานการเรียนรู้ของนักศึกษา อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการออกแบบสื่อการสอนที่มีความน่าสนใจ เช่น การสร้างภาพและสื่อโสตทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน เพื่อให้เนื้อหาดูน่าสนใจและเข้าถึงนักศึกษายุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น
"ส่วนตัวอาจารย์เองเป็นผู้ช่วยคณบดี ภายใต้การนำของ รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มใช้ AI ในคณะวิทย์ ทำให้เราเองต้องศึกษาและได้เรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้ไปด้วย โดยทุกวันนี้ก็มีใช้ ChatGPT Perplexity Copilot มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจและร่างแนวคิดเบื้องต้น จากนั้นก็นำมาต่อยอดและพัฒนาสร้างสรรค์ให้เป็นไอเดียใหม่ ๆ เพื่อการออกแบบสื่อการเรียนการสอน สร้างภาพจำลองกระบวนการผลิต โมเดลอาหารต้นแบบ บรรจุภัณฑ์อาหาร เสริมไอเดียผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด ประเมินความต้องการของผู้บริโภค และคาดการณ์แนวโน้มทางอาหารในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้เรามีเวลาในการพัฒนาตนเองและทำงานบริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือการบริการวิชาการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมมากขึ้น นับว่า AI ได้มาเสริมสร้างประสิทธิภาพในระบบการศึกษาและเพิ่มคุณภาพการสอนให้ดียิ่งขึ้นอีก"
ทั้งนี้ อาจารย์เจี๊ยบ เสริมต่อว่า AI ไม่ได้เป็นศัตรูหรือภัยคุกคามต่อบทบาทของครูผู้สอน แต่กลับเป็น "ผู้ช่วย" ที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการเรียนรู้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าอาจารย์จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างของ AI อีกขั้นหนึ่งก่อนที่นำไปสอนนักศึกษา โดยนักศึกษาเองก็สามารถใช้ AI ในการเรียนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งช่วยนักศึกษาเข้าใจเนื้อหาเชิงลึกบางอย่างได้รวดเร็ว อาทิ การใช้ AI ในการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการผลิตและแปรรูปอาหาร ช่วยแปลและสรุปเนื้อหาจากบทความวิจัยต่างประเทศให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน และในขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลาย โดยจะต้องใช้อย่างชาญฉลาดและรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลเท็จ/จริง มิใช่นำข้อมูลของ AI มาใช้จนหมดและไม่ผ่านการไตร่ตรองเลย
AI ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนา Soft Skills ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะสำคัญเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้ AI ช่วยฝึกทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ นักศึกษาสามารถใช้ AI เป็นเครื่องมือในการค้นหาข้อมูลจาก Big Data ฝึกฝนแนวคิด Design Thinking และ Lean Canvas รวมถึงเรียนรู้การตั้งราคาและหาจุดคุ้มทุนซึ่งอาจจะดูห่างไกลจากความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่สามารถเรียนรู้ได้อย่างง่ายดายด้วย AI ทำให้การเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้เป็นไปอย่างสนุกและเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
"บทบาทของอาจารย์ยังคงสำคัญมากในการชี้นำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา โดย AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนก็จริง แต่สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ที่มีคุณค่ามากที่สุดคือการเรียนรู้ที่เกิดจากการสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างบุคคล" อาจารย์เจี๊ยบลงความเห็นเพิ่มเติม
เมื่อวงการล่ามถูก AI ดิสรัปชั่น การเข้าใจธรรมชาติและความสามารถของ AI จึงเริ่มอย่างเข้มข้น
ด้าน อาจารย์นก-ดร.สานุช เสกขุนทด ณ ถลาง โครงการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล คณะศิลปศาสตร์ เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษา โดยเฉพาะด้านการแปลภาษาและล่าม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องการความเข้าใจเชิงลึกทั้งในด้านภาษาและบริบทวัฒนธรรมว่า ทุกวันนี้ AI ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนวงการแปลเป็นอย่างมาก กล่าวคือ นักศึกษาสามารถใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยให้การแปลและการเข้าใจภาษาที่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเป็นเครื่องฝึกฝนตนเองในด้านภาษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พร้อมกันนี้ อาจารย์นกได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดสำคัญที่ยังคงมีอยู่ใน AI และแอปแปลภาษาต่าง ๆ คือ แม้ว่า AI จะสามารถแปลข้อความได้อย่างรวดเร็ว แต่มักยังขาดความสามารถในการเข้าถึงบทบาทและความหมายเชิงลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเข้าใจอารมณ์และบริบทที่อยู่เบื้องหลังคำพูดหรือข้อความนั้น ๆ การแปลความหมายโดย AI ยังไม่สามารถจัดการกับเรื่องที่มีความเซนซิทีฟได้ซึ่งหากใช้โดยไม่มีมนุษย์ช่วยตรวจทานอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ ตัวอย่างเช่น ประโยค "การผ่าตัดของคุณหมอวันนี้คนไข้ตายแน่นอน" อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ฟัง แต่หากแปลโดยมนุษย์จะสามารถปรับเปลี่ยนเป็น "การผ่าตัดของคุณหมอวันนี้มีโอกาสสำเร็จน้อย" ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงของข้อความได้ เป็นต้น ทำให้การแปลของ AI ยังคงมีความแตกต่างจากการแปลที่ทำโดยมนุษย์ที่เข้าใจในแง่มุมละเอียดอ่อนเหล่านี้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ AI ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพและการเรียนการสอนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โดยเน้นให้นักศึกษารู้จักใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพและตระหนักถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยี AI พร้อมกระตุ้นให้นักศึกษาต้องเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น เช่น การเข้าใจบริบทและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ ผลในการพึ่งพา AI มากเกินไป อาจทำให้นักศึกษาขาดความเข้าใจเชิงลึกในประเด็นที่ต้องอาศัยการตีความเชิงมนุษย์
"ปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการแปลภาษา โดยช่วยให้กระบวนการทำงานสะดวกขึ้น เช่น การแปลข้อความอัตโนมัติ และการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อน แต่ในทางกลับกัน AI ยังเป็นตัวกระตุ้นให้หลักสูตรการเรียนการสอนต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา ซึ่งข้อดีของ AI คือ ช่วยเพิ่มความเร็วและความสะดวกในการแปล แต่ข้อจำกัดของมันคือ AI จะไม่เข้าใจบริบททางวัฒนธรรมและให้อารมณ์ของงานแปลให้มีความหมายลึกซึ้งได้เลย ซึ่งส่วนนี้ยังต้องอาศัยมนุษย์ในการตัดสินใจ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องสอนนักศึกษาให้พร้อมรับมือกับข้อจำกัดของ AI" ดร.สานุช ขยายความ
ข้อต้องคิด "อย่าให้ AI มา Generate ไอเดีย"
ดร.สานุช ได้แบ่งปันประสบการณ์การนำ AI มาใช้อีกว่า ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT Claude Gemini หรือ Perplexity ที่ใช้ในสื่อการสอน หรือการทำงานวิชาการอื่น ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยในการแปลภาษาเบื้องต้น แต่ยังสามารถเป็นแหล่งข้อมูลและที่ปรึกษาสำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของภาษาและแนวคิดต่าง ๆ ในการแปลได้อีกด้วย และแม้ว่า AI เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยม แต่ด้วยเทคโนโลยีในตอนนี้ AI ยังไม่ควรนำมาใช้ในการแปลเอกสารที่มีความสำคัญมาก ๆ เช่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เอกสารเกี่ยวกับการทูต หรือเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ เพราะระดับความสำคัญทำให้ต้องใช้คนทำความเข้าใจ ตีความและลงมือทำด้วยตนเองอยู่ แต่เอกสารอื่น ๆ สามารถทำได้โดยผู้ใช้จะต้องมีความรู้ที่มากกว่า AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ AI ผลิตออกมาให้
"แม้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน แต่ผู้สอนต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และต้องรู้วิธีการผสานเทคโนโลยีเข้ากับกระบวนการเรียนการสอนให้ได้ โดยการสอนนักศึกษาให้รู้จักใช้ AI อย่างชาญฉลาดจะเป็นการเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับโลกแห่งการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และอาจารย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการชี้นำทิศทางการเรียนรู้และสร้างบรรยากาศการศึกษาที่มีความหมาย ส่วน AI ควรเป็นเพียงเครื่องมือเสริมที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้เท่านั้น และอย่าให้AI มา Generate ไอเดีย เพราะจะทำให้เราคิดไม่เป็น แต่ใช้ Brainstorm ได้ โดยควรใช้อย่างมีจริยธรรม ยึดมั่นเสมอว่า ผู้ใช้ AI จะต้องรู้การนำไปใช้มากกว่า AI เสมอ และจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่ AI แสดงผลออกมา คิดเสมอ 'You are THE BOSS'"
แม้ว่าการใช้ AI จะเป็นก้าวใหม่ที่น่าตื่นเต้น แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาไม่ได้หมายความว่าจะต้องแทนที่อาจารย์ อาจารย์ยังคงเป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำและสนับสนุนนักศึกษาอย่างใกล้ชิด ขณะที่ AI จะเข้ามาช่วยเสริมในด้านการจัดการข้อมูล การประเมินผล และการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารระหว่างบุคคล
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนให้ได้ผลดีต่อนักศึกษาที่สุด ประกอบกับส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ผสานเทคโนโลยีเข้ากับการสอนที่มีมนุษยธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเติบโตในยุคดิจิทัลที่ AI มีบทบาทสำคัญ
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit