วว. นำเสนอนวัตกรรมส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง "ยางพารา" ภายใต้ ครม. สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

18 Feb 2025

ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมด้วย ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ คณะนักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ และคณะบุคลากรสำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม วว. ร่วมต้อนรับ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะ ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ภายใต้การประชุม ครม. สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จังหวัดสงขลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดสงขลา

วว. นำเสนอนวัตกรรมส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง "ยางพารา" ภายใต้ ครม. สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย

ในการนี้ นางสาวศุภมาสฯ ได้มอบนนโยบายสำคัญว่า มุ่งนำงานตามมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เข้าไปเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนา ต่อยอด และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มุ่งเตรียมความพร้อมและยกระดับทรัพยากรบุคคลให้มีสมรรถนะและมีทักษะแรงงานเพื่ออนาคต มุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย เน้นการเสริมและพัฒนาทักษะที่สำคัญในอนาคต ที่มีความสำคัญในภาคการผลิต 4 สาขาหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว สังคม และภาคอุตสาหกรรม โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่ผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเสริมสร้างศักยภาพและโอกาส เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการค้าที่สูงขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่

โอกาสนี้ วว. ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน อววน. ในการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง (ยางพารา) ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่

1) เครื่องขึ้นรูปแผ่นเสริมรองเท้าเพื่อสุขภาพ สำหรับใช้พิมพ์รูปเท้าเฉพาะของแต่ละบุคคล โดยนำน้ำยางพารามาพัฒนาเป็นถุงแบบพิมพ์รอยเท้า เพื่อใช้ในการทำแผ่นเสริมรองเท้าให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีลักษณะเท้าไม่เข้ากับมาตรฐาน หรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพและเล่นกีฬา ช่วยส่งเสริมให้เกิดมูลค่าของน้ำยางพาราได้ถึง 10 เท่า มีต้นทุนการผลิตเครื่องถูกกว่าท้องตลาด 75% ทดแทนการนำเข้าที่มีราคาหลายแสนบาท วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับผู้ประกอบการเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์

2) เข็มขัดกายภาพเคลือบยางพารา สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เป็นอุปกรณ์กายภาพบำบัด ที่ช่วยพยุงและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย สำหรับใช้งานในการฝึกยืน ฝึกเดิน และเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยนำคุณสมบัติพิเศษของยางพาราที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อการขัดถูได้ดี และมีแรงเสียดทานระหว่างผิวยางพารากับพื้นผิวสัมผัสวัสดุที่สูง มาประยุกต์ใช้งานกับผลิตภัณฑ์เข็มขัดสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการยึดเกาะ กระชับกับเอวและสรีระได้ดี ไม่เลื่อนหลุดออกขณะใช้งาน และช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนสำหรับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า มีผู้ประกอบการรับการถ่ายทอด ผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

3) ถุงมือผ้าเคลือบยาง น้ำยางพาราช่วยเพิ่มความทนทานให้แก่ถุงมือ ทำให้ถุงมือผ้าเคลือบยางมีคุณสมบัติป้องกันการบาดคม บาดเฉือน ลดแรงกระแทก กันลื่น นำไปใช้ในงานด้านเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้างและอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า และน้ำยาง 1 กิโลกรัมสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือผ้าเคลือบยางได้ถึง 30 คู่ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่วิสาหกิจชุมชน และ SME ผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

4) แผ่นกันลื่นจากยางพาราสำหรับพรมอเนกประสงค์ ใช้เทคโนโลยีเคลือบยางบนผ้าเพื่อผลิตแผ่นกันลื่น ซึ่งช่วยให้แผ่นพรมอเนกประสงค์สามารถยึดเกาะกับพื้นได้ดี ไม่ก่อให้เกิดการลื่นล้มได้ง่าย สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า ช่วยลดการนำเข้าแผ่นกันลื่นจากต่างประเทศและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่วิสาหกิจชุมชนเพื่อผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์

5) ลูกกลิ้งยางพาราสำหรับราวกันชนบนท้องถนน (Rolling Guard Barrier) วิจัยและพัฒนาบนพื้นฐานคุณสมบัติที่โดดเด่นของยางพาราในเรื่องความยืดหยุ่นที่สูงและรับแรงกระแทกได้ดี ผลิตภัณฑ์นี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพาราได้มากกว่า 10 เท่า เหมาะสำหรับกันกระแทกบริเวณทางโค้งถนนทางหลวง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนมากขึ้น โดยสามารถนำมาใช้เป็นเกาะกลางถนนหรือบริเวณทางโค้ง สามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการหมุนของลูกกลิ้งที่ช่วยเปลี่ยนทิศทางและลดแรงกระแทก ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของการเสียชีวิตบนท้องถนน

อนึ่ง นอกจากงานวิจัยพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพาราแล้ว ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. ยังให้บริการวิเคราะห์ทดสอบยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารา ดังนี้

1.วิเคราะห์คุณสมบัติของชิ้นงานยางคอมพาวด์ ได้แก่ ความหนืด ความคงรูปของยาง ความหนาแน่น ความแข็ง ความต้านทานต่อแรงตึงและความยึดเหนี่ยวเมื่อขาด ความทนทานต่อการฉีกขาด ความต้านแรงกด ความต้านทานความร้อน จำลอง สภาวะอากาศสำหรับการทดสอบความคงทนของวัสดุ ความทนทานต่อโอโซนการกระจายตัวของสารตัวเติมในยาง

2.วิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำยางข้น ได้แก่ ปริมาณของแข็งทั้งหมด ปริมาณเนื้อยางแห้ง ความเป็นกรดด่าง ปริมาณกรดไขมันระเหยง่าย ปริมาณโพแทสเชียมไฮดรอกไซด์ ความเสถียรเชิงกลของน้ำยาง ปริมาณยางจับตัวเป็นก้อน ความหนืด

3.ทดสอบผลิตภัณฑ์จากยางพารา ได้แก่ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต หลักนำทางยางธรรมชาติ ถุงมือเคลือบยางพารา ถุงมือยาง ฟองน้ำลาเท็กซ์ แผ่นยางปูพื้น