วว. คว้ารางวัล "Hackathon 2025" นวัตกรรมการแพทย์โดยคนไทย จากผลงานโพรไบโอติก

19 Feb 2025

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ดร.เพ็ญนภา ชลปฐมพิกุลเลิศ และดร.ชัยวรกุล ไชยปัญญา นักวิจัย ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดนวัตกรรมทางการแพทย์ ในงาน Medical Innovation Hackathon 2025 จากผลงานผลิตภัณฑ์ "หวาน D" หรือ PROBIOTICS AS A COMPLEMENTARY MEDICINE TO MANAGE TYPE II DM ในประเภท HERBAL EXTRACTS & NUTRACEUTICALS MIDAS MEDICAL INNOVATION HACKATHON 2025 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)

วว. คว้ารางวัล "Hackathon 2025" นวัตกรรมการแพทย์โดยคนไทย จากผลงานโพรไบโอติก

สำหรับผลงานที่ วว. ได้รับจากการประกวดดังกล่าวเป็นการบูรณาการวิจัยและพัฒนาระหว่าง วว. กับบริษัทอินโนบิก (เอเชีย) จำกัด มีคุณสมบัติเด่นคือ เป็นนวัตกรรมโพรไบโอติกสายพันธุ์ไทยตัวแรก ที่ใช้เสริมการรักษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งได้รับยา metformin ชนิดเดียว โดยมีส่วนช่วยในการทำงานของเซลล์ตับอ่อนและชะลอภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทั้งนี้ผู้ป่วยยังต้องปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ ด้วยการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเภทยาความเสี่ยงต่ำ

อนึ่ง งาน Medical Innovation Hackathon 2025 จัดโดย ฝ่ายประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเพื่อการผลิตนวัตกรรม (MIDAS) ภายใต้มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบัน เค อะโกร อินโนเวท ภายใต้มูลนิธิกสิกรไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพให้สามารถบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพของไทย ผ่านแนวทางการประเมินความคุ้มค่าตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยมีนักพัฒนานวัตกรรมทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 152 ผลงาน ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา ชีววัตถุ อาหารเสริม และดิจิทัลแพลตฟอร์มทางการแพทย์ นับเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรม หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงสร้างโอกาสในการนำเสนอผลงานต่อผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุน ที่พร้อมสนับสนุนให้โครงการต่างๆ เดินหน้าเข้าสู่ระบบสุขภาพ และสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของนวัตกรไทย ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของระบบสาธารณสุขของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ วว. โดย ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) มีศักยภาพและความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบครบวงจร (Research and Development, Innovation and Manufacturing : RDIM) ประกอบด้วยนักวิจัยที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์โพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหาร มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับงานวิจัยพัฒนาตั้งแต่ระดับต้นทาง (Upstream unit) ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการ ระดับสัตว์ทดลอง จนถึงการศึกษาในระดับมนุษย์ (Clinical trial) ถึงระดับปลายทาง (Downstream unit) มีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานสากล ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งถือว่าเป็นสายการผลิตที่ครบวงจรเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสุขภาพ ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

วว. คว้ารางวัล "Hackathon 2025" นวัตกรรมการแพทย์โดยคนไทย จากผลงานโพรไบโอติก