กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) แถลงนโยบายประจำปี 2568 ชูนโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" ใช้หัวและใจให้บริการ ขานรับนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส"ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้กลยุทธ์ "4 ให้ และ 1 ปฏิรูป" ประกอบด้วย 1) ให้ทักษะใหม่ 2) ให้เครื่องมือที่ทันสมัย 3) ให้โอกาสโตไกล 4) ให้ธุรกิจไทยที่ดีคู่ชุมชน และปฏิรูปดีพร้อมสู่องค์กรทันสมัย เฟ้นหาฮีโร่ผู้นำธุรกิจไทย พร้อมเดินหน้าเชิงรุกปั้นนิคมเอสเอ็มอีตอบสนองทุกความต้องการของผู้ประกอบการ พร้อมปฏิรูป การทำงาน ยกระดับบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเพิ่มศักยภาพบุคลากร รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต คาดว่าจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน GDP ของประเทศได้เพิ่มขึ้นอีก 1%
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ในปี 2568 ว่า ดีพร้อมได้มีการปฏิรูปการดำเนินงานโฉมใหม่ โดยมองภาพการพัฒนาให้กว้างขึ้น ตอบสนองประเด็นปัญหาเชิงมหภาคของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในเรื่องแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจโลกกับการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมเดิมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ การดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ รวมไปถึงภารกิจการช่วยเหลือให้วิสาหกิจไทยปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ให้อยู่รอด เดินต่อ และเติบโตสู่สากล พร้อมยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียวในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม และรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพิ่มผลิตภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่ม สอดรับกับแนวคิดของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มอบนโยบายสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ของโลก พร้อมช่วยเหลือส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs) ในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" และตามนโยบาย "อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ" ที่ "เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน" ของนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
เพื่อให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจไทยเดินหน้าเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ของโลกใหม่ใบเดิมอย่างมั่นคง ดีพร้อมจึงมีแนวคิดในการสร้าง "ดีพร้อมคอมมูนิตี้" (DIPROM Community) ซึ่งเป็นการนำวิสาหกิจไทย เข้ามาสู่ระบบบริหารจัดการของดีพร้อม โดยดีพร้อมจะส่งเสริมและสนับสนุนด้วย 6 กลไกที่สำคัญ คือ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytic) เทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ (Technology /Digital /Innovation /Creative) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Funding) การเชื่อมสิทธิประโยชน์ (Privilege) การเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร (Networking) และการผลักดันธุรกิจสู่สากล (Connect to the world) เพื่อให้วิสาหกิจไทยในระบบการพัฒนาสามารถ "สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเครือข่าย" เพิ่มศักยภาพวิสาหกิจไทยให้สามารถยกระดับธุรกิจให้เติบโต และแข่งขันได้อย่างมั่นคงในอนาคต รวมไปถึงเกิดเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภายในดีพร้อมคอมมูนิตี้และสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันในรูปแบบวิสาหกิจขนาดใหญ่สามารถดูแลวิสาหกิจขนาดเล็กได้ (Big Brother) เป็นฮีโร่ที่ดีพร้อมสร้างเพื่อให้วิสาหกิจไทยเดินหน้าไปด้วยกัน และเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมนิคมฯ SME ในอนาคต
นางสาวณัฏฐิญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" เป็นการปฏิรูปดีพร้อมสู่องค์กรทันสมัย เฟ้นหาฮีโร่ผู้นำธุรกิจไทย พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดีอยู่คู่ชุมชน ภายใต้ กลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ดังนี้
ให้ที่ 1 : ให้ทักษะใหม่ : เพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถบุคคลทั่วไปและผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิม (Upskill) สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) และสร้างทักษะใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ (New skill) โดยการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย มีมาตรฐานรับรองทักษะ ผ่านการเพิ่มทักษะเพื่อการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ทั้งในด้านการเริ่มต้นประกอบธุรกิจใหม่ การยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล และการบริหารจัดการธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ไทย (SOFT POWER) ซึ่งเป็น 1 ในนโยบายหลักที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งดีพร้อมเป็นหน่วยร่วมในการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายเพื่อให้ผู้ผ่านการพัฒนาทักษะใหม่มีรายได้สูงขึ้นและสามารถก้าวข้ามหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้
ให้ที่ 2 : ให้เครื่องมือที่ทันสมัย : เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการติดอาวุธที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) Standard การได้รับมาตรฐาน และการรับรอง 2) Productivity การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3) Research การศึกษาค้นคว้าวิจัย 4) Innovation การสร้างนวัตกรรม และ 5) Network การสร้างและขยายเครือข่ายการสนับสนุนให้วิสาหกิจไทยได้ก้าวเดินได้อย่างแข็งแรง พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม 5.0 โดยการใช้เทคโนโลยี AI และการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ ดีพร้อมยังมีการให้บริการเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจากศูนย์บริการของดีพร้อมทั่วประเทศ ทั้งในส่วนศูนย์ให้บริการวิชาการ ศูนย์ให้บริการเครื่องมือต่าง ๆ และศูนย์จัดแสดงสินค้า อาทิ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (BSC) ศูนย์ปฎิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) เป็นต้น
ให้ที่ 3 : ให้โอกาสโตไกล ช่วยเหลือวิสาหกิจให้มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและระดับสากล ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs ให้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ รวมทั้งการบูรณาการทุกภาคส่วน ช่วยเหลือวิสาหกิจได้อย่างตรงกับปัญหาหรือตรงตามความต้องการของวิสาหกิจ ดีพร้อมจึงให้ความสำคัญในเรื่องการสนับสนุนปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งในเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยให้วิสาหกิจไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามศักยภาพของผู้ประกอบการและธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อการส่งเสริมรายอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงระหว่างวิสาหกิจ หรือเชื่อมโยงกับวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็น Supply Chain ที่เข้มแข็ง การสร้างโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการเสริมสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ให้ที่ 4 : ให้ธุรกิจไทยที่ดีคู่ชุมชน ดีพร้อมได้มีการนำแนวคิด BCG มาปรับใช้ในธุรกิจ พร้อมทั้งส่งเสริมด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวให้กับวิสาหกิจเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ (Industry 5.0) และการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งสร้างความยั่งยืนและอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรอบ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ อันนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้งอันจะนำไปสู่การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้งต่อไป สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสอดรับกับแนวทาง "สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้กำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถ "เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน (Balanced and Sustainable Growth)"
ในส่วน ปฏิรูปดีพร้อม มุ่งพัฒนาองค์กรให้ดีพร้อม เพื่อเตรียมรับมือกับบริบทและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ภายใต้ความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น สอดรับกับเรื่อง "การปรับตัวของภาครัฐ" โดยปี 2568 ดีพร้อม มีแนวคิดในการปฏิรูปองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาบุคลากรของดีพร้อม โดยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับยุคสมัยเข้ามาปรับใช้ ได้แก่ 1. การพัฒนาองค์กร อาทิ การพัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค เป็นแหล่งสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้กับหน่วยงานในภูมิภาค การยกระดับระบบการให้บริการของดีพร้อมให้ก้าวทันยุคของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับนโยบาย "การปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล" ด้วยระบบ DIPROM ECOSYSTEM 2. การพัฒนาบุคลากร มุ่งส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และสมรรถนะที่สำคัญให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนการไปฝึกปฏิบัติงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถในมิติที่หลากหลาย ทั้งด้านวิชาการและการให้บริการวิสาหกิจที่มีประสิทธิภาพ
"ดีพร้อม เชื่อมั่นว่า ภายใต้กลยุทธ์ 4 ให้ และ 1 ปฏิรูป ที่จะเร่งขับเคลื่อนในปี 2568 นี้ จะเป็นการดำเนินงาน เชิงรุกที่ออกไปส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกด้านได้อย่างตรงจุดตามนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งเป้าผลักดัน GDP ประเทศให้เติบโตอีก 1% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 180,000 ล้านบาท ผ่านการลงทุนภาคอุตสาหกรรมโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ โดยดีพร้อมมีซัพพลายเชนที่พร้อมสนับสนุนให้เกิดการผลิตในประเทศผ่านการใช้จ่ายในโครงการลงทุนเครื่องจักรภาครัฐ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างขีดความสามารถ Productivity และ Standard ภายใต้ Industry 5.0 พร้อมเชื่อมโยงกลไกการตลาด อีกทั้งยังเน้นแพลตฟอร์ม 'Made by Thais' เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้า ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจากการบริโภค ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2569 ดีพร้อมได้ตั้งคำของบประมาณไว้ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 50,000 ล้านบาท นโยบายทั้งหมดนี้จึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมั่นใจได้ว่าการกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้นอีก 1% นั้นสามารถทำได้แน่นอน" นางสาวณัฏฐิญา กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit