ท๊อป จิรายุส สรุปเทรนด์เศรษฐกิจโลกจาก Summer Davos 2024 ที่คนไทยต้องรู้

25 Jul 2024

สรุปรวมทุกประเด็นจากการเข้าร่วมประชุม Annual Meeting of the New Champions 2024 ของ World Economic Forum โดย คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ณ เมืองต้าเหลียน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นในเวทีประชุมของผู้นำโลกและเรื่องที่คนไทยจำเป็นต้องรู้ เพื่อเตรียมพร้อมปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันในระดับภูมิภาค

ท๊อป จิรายุส สรุปเทรนด์เศรษฐกิจโลกจาก Summer Davos 2024 ที่คนไทยต้องรู้

อาเซียนเตรียมประกาศข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล DEFA ในปี 2025

ประเด็นแรกที่คนไทยทุกคนจำเป็นต้องรู้ คือ ภายในปี 2025 ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนจะลงนามร่วมกันภายใต้ "กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน" หรือ "DEFA" (Digital Economy Framework Agreement) ที่จะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนให้รวมเป็นหนึ่งเดียวและจะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกและจะดึงดูดเม็ดเงินด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาในภูมิภาคจำนวนมาก โดยประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการเป็นประธานในการเจรจา (Negotiation Share) ของกรอบความตกลงนี้ และในปัจจุบันมีความคืบหน้าในการลงนามไปแล้วกว่า 50% ซึ่งจะเกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนแปลงการซื้อขาย (Trade Digitalization) ให้เกิดการเชื่อมต่อแบบไร้พรมแดนระหว่างกันในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะใน 3 ด้านหลักนี้

1.Free-flow of Payments หรือ ความลื่นไหลของการชำระเงิน คือ การชำระเงินจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ (Cross-border Payments) ในอาเซียน โดยจะมีศักยภาพเหมือนการโอนเงินพร้อมเพย์ให้กันได้ทั่วถึงครอบคลุมทั้งภูมิภาค แต่ยังคงมีหลายประเด็นที่ประเทศสมาชิกต้องมาตกลงกันเพิ่มเติม เช่น Data Flows (กระแสข้อมูล), Cyber Security (ความปลอดภัยทางไซเบอร์), Emerging Technology (เทคโนโลยีเกิดใหม่) ฯลฯ ที่จะต้องมาหาทางออกร่วมกัน2.Free-flow of Goods & Services หรือ ความลื่นไหลของสินค้าและบริการ คือ ระบบการเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์จุดเดียว หรือ "ASEAN Single Window" ที่จะสนับสนุนให้การซื้อขายสินค้าหรือให้บริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนมีความไหลลื่นระหว่างกันได้ แต่จะต้องกำหนดมาตรฐานเดียวกันสำหรับการนำเข้าหรือส่งออก รวมถึงค่าธรรมเนียมและกฎหมายต่าง ๆ ของกรมศุลกากร ร่วมกันต่อไป3.Free-flow of People หรือ ความลื่นไหลของทรัพยากรบุคคล คือ การเคลื่อนย้ายของประชากรในภูมิภาคอาเซียนจะมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้นเป็นรูปแบบของ Talent Mobility ทั้งการทำงานข้ามประเทศระหว่างกันหรือการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน โดยมี One Passport หรือ One Visa แบบ European Zone

ทั้งนี้ ข้อตกลง DEFA ในด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้ง AI, Big Data, 3D Printing, IOT ฯลฯ มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งกว่าจะหาข้อตกลงกันได้ก็ใช้เวลานาน ทำให้ข้อตกลงในด้านเหล่านี้มีการเปิดช่องบางส่วนไว้เป็น Flexible Regulation ที่สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้ เผื่อรองรับการเกิดเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต

เพียง 60% ของ DEFA คาดดึงเม็ดเงินกว่า 2 trillion USD เข้าอาเซียน

DEFA ถือเป็นข้อตกลงที่มีความสำคัญเพราะมีลักษณะ Legally Binding (ทุกฝ่ายมีผลผูกพันตามกฎหมาย) ที่มีผลบังคับใช้กับทุกฝ่ายในข้อตกลงให้เดินหน้าตามกรอบความร่วมมือเดียวกันเป็น One ASEAN ที่จะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนและนักพัฒนาจากทั่วโลกให้เข้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถูกประมาณการว่า เพียง 60% ของการลงนาม DEFA นี้สามารถดึงเม็ดเงินเข้าภูมิภาคได้กว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ Relative Growth Rate หรืออัตราเจริญเติบโตสัมพัทธ์ ที่เกิดขึ้นของแต่ละประเทศก็จะมีการเติบโตไม่เท่ากัน เช่น ประเทศอินโดเนเซียน่าจะโต 1.5 เท่า ในขณะที่กลุ่มประเทศแม่โขงแอเรีย อย่างประเทศลาว เมียนมา และกัมพูชา มีโอกาสโตได้ถึง 3-5 เท่าเลยทีเดียว ซึ่ง DEFA จะสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มประเทศเล็ก ๆ ให้มีโอกาสเติบโตสูงขึ้นมาก

โดยเหตุผลหลักที่ของการร่วมมือกันคือการเพิ่ม Scale ของกลุ่มประเทศขนาดเล็ก เพื่อให้มีเสียงที่ดังขึ้นและอำนาจต่อรองที่มากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในปัจจุบันที่ขยับจาก Unilateral System (ระบบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ที่ทำให้ทุกคนปรองดองและโตไปด้วยกัน มาสู่ยุค Multilateral System (ระบบพหุภาคี) ที่มี European Zone และจีนที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทคู่กับสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศเล็ก ๆ จะต้องหาทางรับมือในการอยู่ร่วมกับประเทศมหาอำนาจแต่ละกลุ่ม

3 ทางรอด ประเทศเล็กใช้รับมือประเทศมหาอำนาจ

ในที่ประชุมเวทีโลกสรุปกลยุทธ์ที่กลุ่มประเทศขนาดเล็กหรือ Small State ใช้รับมือกับประเทศมหาอำนาจเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

1.การเป็นผู้ยอมรับชะตากรรม (Be a Price Taker) แนวทางนี้ใช้โดยประเทศสิงคโปร์ เปรียบเสมือนการทำตัวเป็น "กุ้งมีพิษ" ที่แม้ไม่สามารถทำร้ายใครได้ แต่หากถูกกินก็จะสร้างความเจ็บป่วยให้ผู้กิน ซึ่งคือการยอมรับว่าประเทศเล็กไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการกระทำของมหาอำนาจได้ ทำได้แต่ยอมรับผลการตัดสินใจของประเทศมหาอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงจากการเผชิญหน้าโดยตรง2.การทูตแบบจักรยาน (Bicycle Diplomacy) กลยุทธ์นี้เน้นความคล่องตัวและการปรับตัว เปรียบเสมือนจักรยานที่สามารถเลี้ยวหลบหลีกระหว่างรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่กำลังปะทะกัน ประเทศเล็กสามารถหาช่องทางเอาตัวรอดได้ในขณะที่มหาอำนาจกำลังขัดแย้งกัน แต่ข้อเสียคืออาจไม่ส่งเสริมการพัฒนาในภาพรวม เพราะเน้นเพียงการเอาตัวรอด3.การสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อถ่วงดุลอำนาจ (Break the Great Locks) แนวทางนี้เน้นการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้ และสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนัก ทำให้ประเทศขนาดเล็กสามารถมีเสียงในเวทีระหว่างประเทศได้

อย่างไรก็ตาม แต่ละกลยุทธ์ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ประเทศขนาดเล็กอาจต้องผสมผสานกลยุทธ์เหล่านี้เพื่อรับมือกับความท้าทายในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โลกจาก Globalization สู่ Regionalization: ความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศเล็ก

ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาจากการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค (Regionalization) ไปสู่โลกาภิวัตน์ (Globalization) แต่ปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มกลับไปสู่ Regionalization อีกครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศขนาดเล็กในการสร้างอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยประเทศขนาดเล็กจำเป็นต้องรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลก ซึ่งอาเซียนเป็นตัวอย่างที่ดีของการรวมกลุ่มผ่านข้อตกลง DEFA ที่จะช่วยสร้าง Scale และ Movement ให้กลุ่มประเทศขนาดเล็กมีเสียงที่ดังขึ้น

นอกจากนี้ AI ก็เป็นอีกอำนาจต่อรองของประเทศมหาอำนาจ เพราะการพัฒนา Fundamental Layer ของ AI จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ซึ่งประเทศขนาดเล็กจะไม่สามารถลงทุนเองได้เลยและทำให้ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมหาอำนาจทั้ง 3 แห่ง คือ Open AI ของสหรัฐอเมริกา State-Led AI ของจีน และ Closed System ของยุโรป ทำให้อาจถูก Weaponized ได้ เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาการพัฒนาและการใช้งาน AI บน One System จึงเกิดแนวคิด Regionalization ขึ้น โดยให้ประเทศในภูมิภาคควรร่วมมือกันพัฒนา Regionalized AI เช่น ASEAN AI เพื่อลดการพึ่งพามหาอำนาจและสร้างความเป็นอิสระทางเทคโนโลยีอีกด้วย

การกลับสู่ Regionalization เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับประเทศขนาดเล็ก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและลดการพึ่งพามหาอำนาจ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสมดุลในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่ยังคงมีอิทธิพลสูงต่อเศรษฐกิจโลก

กลยุทธ์ของจีนในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจโลก

การแยกตัวทางเศรษฐกิจระหว่างตะวันตกและตะวันออกส่งผลให้เกิดการกระจาย supply chain ออกจากจีนมากขึ้น เกิดแนวคิด "China plus one" แต่จีนยังคงมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก โดยเพียงแค่ 5% Growth ของจีนยังเยอะกว่ามูลค่าของอินเดียและญี่ปุ่นรวมกันเสียอีก ซึ่งปีนี้จีนคาดการณ์ว่าจะโตได้ถึง 5.3% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ GDP โลกมากถึง 18% ในขณะที่ตะวันออกกลางทั้งภูมิภาคมีผลกระทบเพียง 4% ดังนั้น เศรษฐกิจโลกก็ยังต้องพึ่งพาจีนและจีนยังคงไปต่อได้ในอนาคต

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี Li Qiang ได้นำเสนอที่ประชุมใน 5 กลยุทธ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ซึ่งครอบคลุมทั้ง 1 มาตรการระยะสั้นและ 4 มาตรการระยะยาว ดังนี้

1.การรักษารากฐานให้แข็งแรง (Keep the Roots Healthy) เป็นกลยุทธ์ระยะสั้นที่มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงให้กับรากฐานเศรษฐกิจ ผ่านการใช้นโยบายทั้งระดับมหภาคและจุลภาคเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย โดยเน้นการ "ทำความสะอาด" (Clean up) เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว แนวทางนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการเติบโตในอนาคต2.การปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) จีนมุ่งสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI, Big Data, 3D Printing, IoT และ Blockchain เป้าหมายคือการสร้างตลาดใหม่ (Blue Oceans) และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อปลดล็อก Productivity และ Market Opportunities ใหม่ ๆ นอกจากนี้ จีนยังเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยมุ่งเติบโตไปด้วยกัน3.การพัฒนาสีเขียว (Green Development) จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มุ่งพัฒนารถยนต์ที่ Smart, Internet Based, and Energy Conserving Vehicle (ยานยนต์อัจฉริยะ ออนไลน์ และประหยัดพลังงาน) เหมือนเครื่องไอโฟนที่อัพเดตซอฟต์แวร์ใหม่ได้อยู่ตลอด ซึ่งรถไฟฟ้าถูกหยิบขึ้นมาพูดหลายเวทีมากในปีนี้ อาจจะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนของรถไฟฟ้า โดยจีนในตอนนี้มีการส่งออก EV Car เพียง 16% ในขณะที่เยอรมนีมีการส่งออกถึง 80% และคาดว่าจะมีความต้องการสูงถึง 45 ล้านคันภายในปี 2040 ทำให้จีนยังมีโอกาสเติบโตในตลาดนี้อีกมาก4.การเปิดกว้างเพื่อความร่วมมือ (Open Cooperation) จีนส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและสร้างสถานการณ์ Win-win ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ แนวคิดนี้มุ่งเน้นการขยาย "พาย" เศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้นเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย5.การเติบโตแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ภายใต้แนวคิด "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" จีนมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมในสังคม (Diversity, Equity และ Inclusion)

แม้ว่าจะเกิดปรากฏการณ์ Decoupling ระหว่างจีนกับประเทศตะวันตก แต่บทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลกยังคงมีความสำคัญ การลงทุนในจีนอาจชะลอตัวในระยะสั้น แต่ในระยะยาว จีนยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ กลยุทธ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการปรับตัวและรับมือกับความท้าทายในยุคเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน โดยมุ่งเน้นทั้งการพัฒนาภายในประเทศและการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรักษาบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลกต่อไป

กลยุทธ์สีเขียวของเวียดนามหวั่นกระทบส่งออกข้าวไทย

เวียดนามกำลังก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2022 เติบโตถึง 8% ต่อมาในปี 2023 เติบโต 5% และคาดการณ์ว่าในปี 2024 จะเติบโตถึง 6% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าประเทศจีน ซึ่งในระยะสั้นนั้น เวียดนามมีการควบคุมหนี้สินครัวเรือนอยู่ในอัตราที่ต่ำมากและสามารถคุมเงินเฟ้อได้แล้ว รวมถึงมีข้าวสำรองของประเทศ (Rice Reserve) อยู่ถึง 4 ล้านตันและลดดอกเบี้ยให้กับ Entreprise เพื่อให้เข้าถึงต้นทุนการทำธุรกิจที่ต่ำอีกด้วย ด้วยกลยุทธ์ระยะสั้นเหล่านี้ทำให้ประเทศเวียดนามมีรากฐานที่แข็งแรง

ส่วนในระยะยาวเวียดนามก็มีวิสัยทัศน์เหมือนกันกับจีนใน 4 ด้าน คือ Digital, Green, Open และ Inclusive โดยเวียดนามเน้นการปรับกฎระเบียบและนโยบายให้สอดคล้องไปกับทิศทางเดียวกับโลก รวมถึงให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่ม New Infrastructure เช่น AI, Big Data, 3D Printing, Internet from the sky, IoT และ Blockchain ซึ่งจะช่วยให้เวียดนามสามารถเติบโตได้เร็ว โดยเฉพาะการผลิตและพัฒนากำลังคนของเวียดนามที่สามารถผลิตนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ถึง 500,000 คนต่อปี สอดรับกับการเติบโตของเวียดนามในปีนี้ที่ 16% มาจากธุรกิจ Digital Economy

อีกหนึ่งเรื่องที่คนไทยต้องรู้คือ นายกรัฐมนตรีของเวียดนามประกาศในที่ประชุมว่า ตอนนี้เวียดนามสามารถที่จะผลิตข้าว High Quality Low-Methane Rice เป็นการผลิตข้าวคุณภาพดีที่ลดการปลดปล่อยมีเทนได้สำเร็จแล้ว ซึ่งหากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ถูกบังคับใช้จริงจังเมื่อไหร่ จะส่งผลให้ข้าวของเวียดนามสามารถส่งออกไปยังโซนยุโรปและอเมริกาได้ง่ายมาก ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอาจจะส่งออกไปกลุ่มประเทศเหล่านี้ไม่ได้หรืออาจโดนกำแพงภาษีนำเข้ามหาศาล ทำให้การส่งออกข้าวไทยอาจแพ้ประเทศเวียดนามทันที นับเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องรีบทบทวนอย่างเร่งด่วน

ประเทศไทยกับการเตรียมพร้อมสู่อนาคต

สิ่งแรกคือคนไทยจะต้องรู้และเตรียมพร้อมสู่ข้อตกลง DEFA ที่กำลังจะเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิด "One ASEAN Strong People" อาเซียนจะต้องรวมตัวกันเป็นพลังที่แข็งแกร่ง เนื่องจากในอนาคต แนวโน้มจะเปลี่ยนจาก Globalization เป็น Regionalization ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมเข้าร่วม DEFA และเจรจาเพื่อผลประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของภูมิภาคอาเซียน

รวมถึงการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับประเทศไทยโดยพิจารณาจากกลยุทธ์ของจีนและเวียดนามมาปรับใช้อย่างเร่งด่วน พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้สินรัฐบาล การเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Population) และเศรษฐกิจผู้สูงวัย (Silver Economy) เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อีกเรื่องที่สำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งประเทศไทยต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะ (Skill Set) ที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการยกระดับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ให้เป็นกระทรวงเกรด A เพื่อผลักดันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Scientech) อย่างจริงจัง เพื่อเตรียมพร้อมคนไทยให้สามารถแข่งขันในตลาด Digital Economy ได้ อีกทั้งยกระดับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นกระทรวงเกรด A เช่นกัน เพื่อจัดการเรื่องการพัฒนาสีเขียว (Green Development) อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ เช่น Carbon Pricing, Carbon Tax, Net Zero, Climate Tech, Green Loan, Green Transition และ Green Finance เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวให้ทันกับแนวโน้มของโลก โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตข้าวไทย

การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตและก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมที่จะแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit