"จุฬาฯ สืบสาน สร้างป่า" ปลูกต้นยางนา 2,772 ต้น ที่จุฬาฯ สระบุรี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

01 Aug 2024

ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ ร่วมกับประชาคมจังหวัดสระบุรีจัดโครงการ "จุฬาฯ สืบสาน สร้างป่า" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ พื้นที่แปลงปลูกป่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระบุรี ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายวิชัย บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ผศ.ดร.นพดล กิตนะ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาฯ กล่าวรายงาน พร้อมบรรยายและสาธิตการปลูกต้นไม้ด้วยนวัตกรรมการปลูกป่าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ บุคลากรและนิสิตจุฬาฯ ผู้แทนจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จ.สระบุรี หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสระบุรี ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ครู นักเรียน และประชาชนชาวสระบุรีกว่า 700 คนร่วมกันปลูกต้นยางนาจำนวน 2,772 ต้น

"จุฬาฯ สืบสาน สร้างป่า" ปลูกต้นยางนา 2,772 ต้น ที่จุฬาฯ สระบุรี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

โครงการ "จุฬาฯ สืบสาน สร้างป่า" จัดขึ้นเพื่อสนองพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่าแก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าสะสมคาร์บอนภายในจังหวัดสระบุรี

การปลูกป่าในครั้งนี้ใช้นวัตกรรมจากงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการใส่ราเอคโต ไมคอร์ไรซาลงไปในรากของกล้าไม้วงศ์ไม้ยาง เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของต้นไม้และป้องกันโรค ซึ่งรา เอคโตไมคอร์ไรซาจะเติบโตและกลายเป็นเห็ดที่รับประทานได้ เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก ฯลฯ รวมทั้งมีการใช้ พอลิเมอร์ชีวภาพ เพื่อช่วยกักเก็บน้ำใต้ดินให้ต้นไม้ได้ใช้น้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เจริญเติบโต ซึ่งในอนาคตกล้าไม้ยางนาจำนวน 2,772 ต้นจะเติบโตเป็นผืนป่าที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้จังหวัดสระบุรีต่อไป

 

HTML::image(