เครือข่ายลดการบริโภคเค็มรวมพลังผลักดัน เครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) ทั่วประเทศ

09 Aug 2024

เครือข่ายลดการบริโภคเค็มได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรลดบริโภคเค็ม ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมกันผลักดันเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) ที่มีการวิจัยและพัฒนามากว่า 5 ปีภายใต้แบรนด์ CHEM METER เพื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับการตรวจวัดความเค็มในอาหาร โดยเครื่องดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมโดยคนไทย ช่วยคนไทยเพื่อลดการบริโภคเค็ม เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคไต

เครือข่ายลดการบริโภคเค็มรวมพลังผลักดัน เครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) ทั่วประเทศ

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559-2568 เพื่อเฝ้าระวังข้อมูล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียมของประเทศภายใต้รูปแบบการดำเนินงานการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหาร การดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด และการประเมินความตระหนักรู้ด้านการบริโภคเกลือและโซเดียมของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย

กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เริ่มดำเนินการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารตั้งแต่ปี 2563 นำร่องในจังหวัดพะเยา โดยมีแผนการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันได้ดำเนินการทั้งสิ้น 76 จังหวัด และคาดว่าจะครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2568 กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผิดชอบหลักร่วมกับหน่วยบริการและหน่วยงานภาคีเครือข่ายในจังหวัด โดยมีผู้ปฏิบัติงานจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต กรมควบคุมโรค ร่วมรับผิดชอบในการประสานงาน ส่งเสริมสนับสนุน ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งดำเนินการโดยการเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวัดปริมาณโซเดียมด้วยเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร(Salt Meter) จำแนกตามรูปแบบการผลิตอาหาร แหล่งที่ได้มาของอาหาร ประเภทกลุ่มอาหาร และคำนวณค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมในอาหาร อย่างน้อย 3,000 ตัวอย่างต่อจังหวัดครอบคลุมทุกอำเภอ โดยการสนับสนุน Salt meter จากกรมควบคุมโรค และบันทึกข้อมูลตัวอย่างอาหารและผลการตรวจวัดปริมาณโซเดียมเพื่อจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลปริมาณโซเดียมในอาหารของประเทศไทย ผ่าน Application: ThAI Salt Survey ของกรมควบคุมโรค โดยกองโรคไม่ติดต่อ ให้ความสำคัญกับการตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เห็นภาพเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการลดบริโภคเกลือและโซเดียม ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ปรุงอาหาร นำไปเป็นเครื่องมือในการปรับสูตรอาหารของบุคลากรด้านโภชนาการและสาธารณสุข

ด้านรศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดเผยว่า จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมคลอไรด์ของประชากรไทยพบว่าประชากรไทยได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ประชาชนควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน การได้รับโซเดียมในปริมาณสูงเกินกว่าคำแนะนำดังกล่าว มีผลโดยตรงต่อความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และ stroke ซึ่งล้วนเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตและเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในประชากรไทยอายุ 30 ปีขึ้นไป

รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวต่อว่าการแถลงข่าวในครั้งนี้เนื่องจากกลุ่มนักวิจัยภาควิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดบริโภคเค็ม เพื่อช่วยให้คนไทยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคต่าง ๆ โดยปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยลดการบริโภคเค็มคือการปรับพฤติกรรมการกิน โดยลดการทานเค็มและปรับเปลี่ยนอาหาร ซึ่งเครื่องตรวจวัดความเค็มในอาหารเป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยให้ผู้บริโภคทราบเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมในอาหาร เพื่อควบคุมการบริโภคเค็มในแต่ละวัน โดยเครื่องวัดความเค็มภายใต้แบรนด์ CHEM METER ซึ่งจะมีความแตกต่างจากเครื่องวัดความเค็มจากต่างประเทศ เพราะมีการพัฒนาให้เหมาะสมกับการตรวจวัดความเค็มในอาหารไทยที่มีค่าเกลือและไขมันสูง

ด้าน รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาเครื่องตรวจวัดโซเดียมในอาหารได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาต้นแบบมากว่า 4 รุ่น โดยต้นแบบแรกเป็นการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบทฤษฎีและการวัดค่าความเค็ม ตัวอุปกรณ์ใช้หลักการวัดการนำไฟฟ้าของโซเดียมคลอไรด์ รวมถึงมีการปรับปรุงแผงวงจรให้สามารถวัดค่าได้แม่นยำขึ้น จากนั้นมีการปรับปรุงคุณภาพของโพรบเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวัด รวมถึงการออกแบบตัวอุปกรณ์ให้เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันและรองรับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของบุคคลทั่วไปที่ต้องการทราบปริมาณโซเดียมในอาหารสามารถใช้งานอุปกรณ์ได้ง่าย

  ในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้พัฒนาเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นช่วงในการวิจัยและพัฒนาเครื่องตรวจวัดโซเดียมในอาหารระดับห้องปฏิบัติการ และส่วนที่สองคือส่วนที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยช่วงในการวิจัยพัฒนาเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร มีการทำต้นแบบในห้องปฏิบัติการทั้งหมด 4 เฟส แบ่งเป็น

  1. เฟส 1 เป็นการทดสอบการตรวจวัดปริมาณโซเดียมด้วยหลักการนำไฟฟ้าในสารละลาย เพื่อทดสอบดูว่าเป็นไปได้ในการวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร
  2. เฟส 2 เป็นการพัฒนาตัวต้นแบบสำหรับเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร
  3. เฟส 3 เป็นการพัฒนาโพรบและตัวต้นแบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน
  4. เฟส 4 เป็นการปรับปรุงต้นแบบสำหรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ในการผลิตระดับอุตสาหกรรมเครื่องที่พัฒนาและจำหน่ายแล้วมี 2 รุ่น โดยรุ่นแรก CM-01 เป็นรุ่นที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน และนำไปทดสอบใช้ไปแล้วกว่า 300 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการลงพื้นที่รณรงค์ลดการบริโภคเค็มและใช้วัดปริมาณโซเดียมเพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภค ในช่วงการทดสอบ Prototype: มีการนำไปทดสอบใช้งานหลายที่ เช่น ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลต่าง ๆ มีการทดสอบนำเครื่องวัดความเค็มไปวัดตัวอย่างอาหารจากกลุ่มงานโภชนศาสตร์ โรงพยาบาลลำปาง, ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลรามาธิบดี และที่อื่น ๆ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องวัดความเค็มและการใช้งานจากผู้ใช้งานจริงและผู้ที่นำไปใช้งานพึงพอใจในการใช้เครื่องวัดความเค็ม มีการใช้งานที่สะดวก ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และแสดงผลด้วย emoji ใบหน้าที่เข้าใจง่ายในช่วงที่เป็น Commercial Product (CM-01)

รศ.ดร.ยศชนัน กล่าวว่านอกจากนี้ประกอบด้วยคลินิกเฉพาะทางด้านความดันโลหิตสูง ได้นำเครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหารไปใช้งาน เพื่อนำไปปรับลดพฤติกรรมการบริโภคเค็มหรือการลงพื้นที่ชุมชนผ่านอสม. รพสต. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่รณรงค์ลดการบริโภคเค็มทั่วประเทศไทย โดยตัวเครื่องมีการใช้งานที่ง่าย ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถใช้งานได้ แม้แต่ผู้สูงอายุเมื่อได้เห็นการแสดงผลด้วย emoji ใบหน้า ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่าอาหารมีความเค็มมากหรือน้อย ช่วยในการปรับลดปริมาณการบริโภคโซเดียมได้ ขณะนี้เครื่องรุ่น CM-01 มีการพัฒนาฟังก์ชันการใช้งานที่ครบถ้วน สามารถวัดปริมาณโซเดียมในอาหารได้ดี แต่ยังจำเป็นต้องจดบันทึกด้วยมือ หรือแปลงค่าที่วัดได้จากเครื่องมาเป็นปริมาณโซเดียมที่บริโภคในแต่ละวัน ทำให้ทีมนักวิจัยพัฒนาเครื่องวัดความเค็มรุ่น CM-02 ขึ้นมาที่สามารถวัดโซเดียมในอาหารพร้อมคำนวณเป็นปริมาณโซเดียมแสดงผลบนแอพพลิเคชั่นได้เลย รวมถึงสามารถบันทึกค่าปริมาณโซเดียมในอาหารที่วัดจากเครื่องวัดความเค็ม เหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่สามารถติดตามปริมาณโซเดียมที่บริโภคในแต่ละวัน สามารถควบคุมและปรับลดการบริโภคโซเดียมได้ง่ายขึ้น

ส่วน CM-02 และแอพพลิเคชั่นตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาภายในเดือนตุลาคมนี้ จะเป็นการลงพื้นที่ทดสอบการใช้งานกับกลุ่มตัวอย่างและจะจำหน่าย CM-02 พร้อมเปิดให้บริการใช้แอพพลิเคชั่นในช่วงต้นปีหน้า (พ.ศ.2568)โดยทางทีมนักวิจัยคาดหวังว่า CM-02 ที่พัฒนาขึ้นมาจะขยายฐานผู้ใช้งานจากรุ่นแรก  ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้งานจะเป็นองค์กรภาครัฐเพื่อรณรงค์และลงพื้นที่ให้ความรู้กับชุมชนให้มากขึ้น และรุ่น CM-02 จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคไต ที่จำเป็นต้องคุมปริมาณการบริโภคโซเดียมในแต่ละวัน จะสามารถใช้งานได้สะดวกและสามารถช่วยในการให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมและลดการบริโภคเค็มได้เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

เครื่องตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) ได้จัดจำหน่ายผ่านบริษัท บีซีไอ เทคโนโลยี จำกัด โดยได้รับการยอมรับและมีการนำไปใช้มากกว่า 100 องค์กรทั่วประเทศไทย และบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องตรวจวัดโซเดียมในอาหารแบรนด์ CHEM METER รุ่นใหม่ ซึ่งจะสามารถให้การรองรับระบบบลูทูธ เพื่อส่งข้อมูลนำไปคำนวณปริมาณโซเดียมและแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่น ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปตรวจสอบปริมาณโซเดียมที่บริโภคในแต่ละวันได้ง่ายยิ่งขึ้น

HTML::image(