ไทยพีบีเอส ส่งน้ำพริกสัญจรทั่วไทย เปิดเวทีเสวนา "น้ำพริก" ครั้งแรกในภาคอีสาน "โคก ทุ่ง ทาม ตำนาน แซ่บ นัว"

02 Aug 2024

ไทยพีบีเอส ส่งน้ำพริกสัญจรทั่วไทย ปลุกกระแสน้ำพริก โชว์ภูมิปัญญาแม่ครัวน้ำพริกท้องถิ่น ผ่าน  "รายการยกพลคนน้ำพริก" ต่อยอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารไทย เป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างท้องถิ่นสู่สากล

ไทยพีบีเอส ส่งน้ำพริกสัญจรทั่วไทย เปิดเวทีเสวนา "น้ำพริก" ครั้งแรกในภาคอีสาน "โคก ทุ่ง ทาม ตำนาน แซ่บ นัว"

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ส่งน้ำพริก สัญจรทั่วไทย เปิดโลกความหลากหลาย โชว์ภูมิปัญญาแม่ครัวน้ำพริกท้องถิ่น ร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ กิจกรรมสัญจร เวทีเสวนา "น้ำพริก" โภชนวัฒนธรรมแห่งยุค ครั้งแรกในภาคอีสาน กับหัวข้อ "โคก ทุ่ง ทาม ตำนาน แซ่บ นัว" โดยมี นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา และ นางสาวพรรณี รุ่งสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรร เป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม

"ไทยพีบีเอส มุ่งมั่นและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับการส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรม หรือ ที่เราเรียกว่า Soft Power ผ่านเรื่องราวของการเล่าเรื่อง ในเรื่องของอาหาร ในแต่ละภูมิภาค ดังเช่น "รายการยกพลคนน้ำพริก" ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของน้ำพริก ทั่วไทย  ในแนวคิด กิน "น้ำพริก" เห็น "คน" รู้จักชุมชน เข้าใจวิถี  ซึ่งได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานในเชิงพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครืองข่ายต่างๆ มหาวิทยาลัย หรือภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงรายการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาหาร ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ซึ่งไทยพีบีเอส มุ่งมั่น และ ทำมาโดยตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา" นายสมยศ กล่าว

"น้ำพริกสัญจร เป็นจุดตั้งต้น และหมุดหมายที่สำคัญของไทยพีบีเอส ที่จะร่วมผลักดัน Soft Power ด้านอาหาร ผ่านรายการ เรียลลิตี้ "ยกพลคนน้ำพริก" จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาร่วมออกแบบรายการนี้ไปพร้อมๆ กับไทยพีบีเอส โดย "น้ำพริกสัญจร"จะเดินทางสู่ทุกภูมิภาค ทั้ง อีสาน เหนือ และ ใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่อง "น้ำพริก" ไปด้วยกัน โดยเริ่มที่ภาคอีสานเป็นที่แรก กับหัวข้อ โคก ทุ่ง ทาม ตำนาน แซ่บ นัว" นางสาวพรรณี กล่าว

ในงาน "น้ำพริกสัญจร" ทีจังหวัดมหาสารคาม มีการจัดเวทีเสวนาที่น่าสนใจ ถึง 2 หัวข้อ ได้แก่ "สืบ รอย จำ ตำนานแซ่บนัว" ที่ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อปลาร้า เอกลักษณ์แห่งดินแดนที่ราบสูง โดยได้รับเกียรติจาก เพ็ญจิต โยสีดา  ผู้เชี่ยวชาญอาหารอีสาน, ดร.อภิราดี  จันทร์แสง  นักวิจัยเกี่ยวกับศาสตร์แห่งการหมักจากวัฒนธรรมปลาร้า สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ผศ.ดร.ปริญ รสจันทร์  นักวิจัยท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, อนุสรณ์ ติปยานนท์  Food activist นักเขียนผู้สนใจในศิลป์และศาสตร์ของอาหาร และ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในครั้งนี้

โดย ดร.อภิราดี ได้แสดงมุมมองต่อปลาร้าไว้ว่า "พัฒนาการของปลาร้า คือการเคลื่อนของผู้คน เรามีรากเหง้าการใช้ภูมิปัญญาในการหมัก ตามพหุวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ตามความชอบ ความมี ความอยู่ ความเป็น แค่จังหวัดมหาสารคาม"

และอีกหนึ่งเวทีเสวนา "โคก ทุ่ง ทาม ตำนาน แซ่บ นัว" ที่แลกเปลี่ยนมุมมองด้านความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและทรัพยากรในท้องถิ่น กับวิถี นิเวศ "โคก ทุ่ง ทาม" ต่อน้ำพริกอีสานบ้านเฮา เจ้าของวัฒนธรรม เล่าเรื่องวัตถุดิบและเส้นทางเกลืออีสาน โดยมีผู้ร่วมวงเสวนา ได้แก่ สุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรทางเลือกภาคอีสาน, พัชรี ต้นเสดี  กลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านหนองโจด จ.มหาสารคาม, รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเขมร, อนุสรณ์ ติปยานนท์  Food activist นักเขียนผู้สนใจในศิลป์และศาสตร์ของอาหาร และ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ ดำเนินการเสวนา

"คนอีสานมีความหลากหลายทางมิติวัฒนธรรม คนอีสานแต่ละกลุ่มมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ถ้าเราส่งเสริมให้เห็นความหลากหลายและรับรู้ในภาพรวม ให้รู้ถึงหน้าตาของอาหารอีสานที่แท้จริง ลงลึกไปถึงชุมชนให้ได้ และพัฒนาต่อยอด จะนำมาสู่ความเป็นพหุวัฒนธรรมได้แท้จริง" รศ.ดร.ศานติ กล่าว

ด้านนายอนุสรณ์ กล่าวถึงการสานต่อคุณค่าของอาหารเชิงวัฒนธรรมว่า "เส้นทางอาหารเป็นโจทย์ที่ต้องทำงานอีกหนัก เราต้องมีอำนาจอธิปไตยทางการกิน ถ้าถามว่าจะอนุรักษ์ความเป็นอาหารอีสานยังไง เด็กๆ ควรเริ่มจดสูตรของตายายแล้วเก็บรักษาไว้ตั้งแต่วันนี้ เราต้องทำให้มี Value เชิงวัฒนธรรมมากขึ้น"

นอกจากนี้ ในงานยังมีนิทรรศการ ให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาของความเผ็ดนัวแบบอีสาน ทั้งพริก ทั้งเกลือ รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ในการทำน้ำพริก และกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การจำลอง "คีงไฟ" หรือครัวแบบอีสาน การ ชิม "แจ่ว - ป่น - ซุบ" กันแบบนัว ๆ เคล้ากลิ่นปลาร้าเอกลักษณ์แห่งดินแดนที่ราบสูง, จำหน่ายสินค้าผักปลอดสารและน้ำพริกอีสาน และกิจกรรม ปักหมุด "ถิ่นน้ำพริกไทย กับ C -Site" หมุดหมายที่จะทำให้ได้รู้ว่า น้ำพริกในประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งรสชาติ วัตถุดิบ ที่สามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และ โชว์การแสดงดนตรีพื้นถิ่น  จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

โดยหลังจากนี้ "น้ำพริกสัญจร" จะสัญจรไปยังภาคเหนือ เพื่อล้วงสูตรลับ ตำรับน้ำพริก ลำขนาด แบบล้านนา กับงานเสวนา ในหัวข้อ "น้ำพริกบ้านเฮา เลือกเอาเต๊อะนาย" ในวันที่  3 ส.ค. นี้ ณ ศูนย์วัฒนธรรมฯ จ. เชียงใหม่  และสัญจรไปเผ็ดร้อน ถึงเครื่องแกง หรอยแรง ปักษ์ใต้บ้านเรา ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา กับหัวข้อเสวนา "น้ำชุบ หรอยแรง เครื่องแกงใต้ วันที่ 24 ส.ค. นี้

ไทยพีบีเอส มุ่งตอกย้ำ การผลักดัน Soft Power ด้านอาหาร เรื่องราวจาก "น้ำพริก" ที่มีศักยภาพในฐานะ Thai Soft Power  ในรายการเรียลลิตี้ "ยกพลคนน้ำพริก" ซึ่งเป็นรายการที่จะพาผู้ชมไปรู้จัก น้ำพริก ทั่วไทย ปลุกกระแสน้ำพริก ในแนวคิด กิน "น้ำพริก" เห็น "คน" รู้จักชุมชน เข้าใจวิถี ผ่านเวทีประลอง "รสมือ" เพื่อระดมยอดฝีมือด้านน้ำพริก ค้นหา "ดาว" ที่สามารถต่อยอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารไทย เป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างท้องถิ่นสู่สากล

สามารถติดตามกิจกรรม "น้ำพริกสัญจร" และ รายการเรียลลิตี้ "ยกพลคนน้ำพริก" ได้ทางช่องทางออนไลน์ www.thaipbs.or.th, Facebook Fan page : ไทยบันเทิง Thai PBS , Artclub Thai PBS, Localist, The North องศาเหนือ, อยู่ดีมีแฮง, แลต๊ะแลใต้ และ นักข่าวพลเมือง Thai PBS

HTML::image(