AI คือเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงและนำมาใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยความโดดเด่นของการประมวลผลข้อมูลที่ชาญฉลาด และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ ช่วยสนับสนุนการทำงานด้านต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งในภาคการเกษตร การผลิต การค้า และบริการ จึงทำให้ทั่วโลกมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี AI มากกว่า 9.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2025 ขณะที่การนำ AI มาใช้งานสามารถช่วยเพิ่ม GDP ของโลกได้อีก 7% (7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 1.5% ต่อปี โดยประเทศไทยเองก็อาจเพิ่มผลิตภาพประมาณ 0.9% ต่อปี จากการประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ AI ก็มาพร้อมกับช่องว่างหรือ GAP ในหลายมิติที่รัฐบาลต้องเตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ จากแนวโน้มด้านการลงทุนและพัฒนาที่กล่าวมา จึงเกิดคำถามว่า ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
สำรวจภาพรวมประเทศพร้อมแค่ไหนกับ "AI"
จากการสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในองค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา พบว่า มีหน่วยงานเพียง 15.2% (จาก 565 หน่วยงานที่ตอบแบบสอบถาม) ที่นำเทคโนโลยี AI ไปใช้แล้ว โดย 50% ของหน่วยงานที่ตอบแบบสอบถามคาดหวังในการใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือบริการขององค์กร ขณะที่เหตุผลของหน่วยงานที่ยังไม่นำ AI มาใช้งาน คือ 1. ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาหาข้อมูล เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างไร 2. ยังขาดความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร งบประมาณ และ 3. ยังไม่มีความจำเป็นในการนำ AI มาใช้
รู้หรือไม่ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนด้าน AI ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับหลากหลายภาคส่วน
เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของประเทศอย่างเป็นระบบ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สทวช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) จัดทำ "แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565-2570" ซึ่งมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในวงกว้าง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงานส่วนด้านของกลไกการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องรวม 3 คณะ ได้แก่ 1. คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ 2. คณะอนุกรรมการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ และ 3. คณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ
โดยมี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ในฐานะกรรมการของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ และอนุกรรมการของคณะอนุกรรมการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี AI ผ่านแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566-2570 โดยมีเป้าหมาย ดังนี้ 1. การเพิ่มมูลค่าการขายผลิตภัณฑ์และบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI จำนวน 1,000 ล้านบาท 2. หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI จากผลงานการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำนวน 300 หน่วยงาน 3. การเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนา และ/หรือการประยุกตใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI จำนวน 600 คน
นอกจากนี้ สกสว. ได้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ระหว่างปี พ.ศ. 2563-2566 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,114.47 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณ 1,309.57 ล้านบาทในการสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ ผ่านหน่วยบริหารจัดการทุนจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. และงบประมาณ 804.9 ล้านบาท ในการสนับสนุนงานเชิงมูลฐาน ให้แก่หน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI โดยแนวทางการสนับสนุนทุน ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมต่าง ๆการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาและยกระดับกำลังคนด้าน AI
อีกทั้ง สกสว. ร่วมกับ TIME Labs ม.มหิดล เร่งพัฒนาโรดแมปวิจัย รองรับยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทย ผ่านการศึกษาการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ฯ สู่อุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต จำนวน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะด้านดิจิทัลซึ่งเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรม และมีประเด็นเรื่อง AI เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยได้มีการวางเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ออกเป็นระยะสั้น2565-2566 ระยะกลาง 2567-2569 และระยะยาว 5 ปีขึ้นไป
AI คือเรื่องใหม่ที่ต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยให้เกิดขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
โดยในปัจจุบันที่เป็นระยะกลาง พ.ศ.2567-2569 เป้าหมายคือ สร้างบุคลากรใหม่ด้านดิจิทัลหรือบัณฑิตจบใหม่จากสถาบันการศึกษาที่มีการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมต่อดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นและยังครอบคลุมการปรับคุณวุฒิ บุคลากรด้านดิจิทัลปัจจุบันด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมยกระดับการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อเร่งสร้าง Talent ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ Future Industry จะเข้ามาลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่การเป็นประเทศที่สามารถคิดค้นและสร้างเทคโนโลยีของตนเอง และจะส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อหัวของประชากรไทยสูงขึ้น
นอกจากนี้แผนที่นำทางดังกล่าวจะเน้นการสร้างบุคลากรใหม่ด้านดิจิทัล การยกระดับการพัฒนาระบบต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงข้อมูล (Accessibility) ทั้งสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล (Free access) และความยุติธรรมของการเข้าถึงข้อมูล (Fair access) ตลอดจนการเชื่อมต่อกันของข้อมูล(Connectivity) การยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Al driven industries) แล้วนั้นยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
เรื่อง "ท้าทาย" ที่ "ต้องทำ" เพื่อก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
นอกจากภาพรวมในเรื่อง AI ที่ได้กล่าวมาแล้ว พบว่าเทคโนโลยี AI มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการถือกำเนิดของ Applications อย่าง ChatGPT ซึ่งเพิ่มเติมจากเรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบ Machine Learning เดิมมาสู่ยุค Generative AI (GAI) ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี ดังนั้นหากจะตอบคำถามว่าไทยมีความพร้อมแค่ไหนสำหรับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ก็คงเป็นคำตอบที่มีความท้าทายไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกทิศทางและแนวทางในการเดินไปข้างหน้าในเรื่องนี้อย่างไร แน่นอนว่าเรื่องนโยบาย แผนงานที่ชัด กลไกการส่งเสริม รวมไปถึง งบประมาณการลงทุน จะเป็นตัวชี้นำการเปลี่ยนแปลงของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่การลงทุนด้าน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในเรื่อง AI นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอันดับต้นๆที่จะเกื้อหนุนให้ภาคเอกชนรายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะโอกาสที่เป็นปัจจัยด้านบวกในการเลือกสมรภูมิฐานการผลิตของค่ายยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำตลาดทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ในการเข้ามาจัดตั้ง Datacenter, Could System, AI Infrastructure อย่าง GPU และฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากมายในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดี สกสว. ในบทบาทของผู้จัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณ ด้าน ววน. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านดิจิทัลและ AI ในประเทศไทย เพื่อให้เรากลายเป็นประเทศที่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้นี้
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit