โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงาน "สาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9" ชี้ความสำคัญของ"จรณทักษะ" Soft Skills ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนอนาคต

24 Jun 2024

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพจัดงาน "สาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9" ระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2567 ภายใต้แนวคิด "จรณทักษะจำเป็นสำหรับอนาคต" (Essential Soft Skills for the Future) ระหว่างวันที่ 8-9 สิงหาคม 2567 เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมทางการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศ โดยมีการนำเสนอผลงานวิจัยทางการศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านการศึกษา

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงาน "สาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9" ชี้ความสำคัญของ"จรณทักษะ" Soft Skills ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนอนาคต

งานแถลงข่าวงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คณะ ครุศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในการแถลงข่าว ผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ รักษาการรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีคณะครุศาสตร์ คุณกำพล โชติปทุมวรรณ นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณกนิษฐ์ สารสิน นายกสมาคมนักเรียนเก่าสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย อ.ศรียา เนตรน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม อ.พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจาก 20 สถาบัน เข้าร่วมงานแถลงข่าว ภายในงานมีการมอบรางวัลแก่นักเรียนที่ชนะเลิศการประกวดตราสัญลักษณ์งานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานสาธิตวิชาการเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนและอาจารย์โรงเรียนสาธิตจากสถาบันต่างๆ ได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทางวิชาการและยกระดับการวิจัยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป งานในครั้งนี้ตอบโจทย์การพัฒนา Soft Skills ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาเยาวชนในอนาคต งานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยมได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และสมาคมนักเรียนเก่าสาธิตจุฬาฯ โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนสาธิตทุกสถาบันที่ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและการจัดการการเรียนรู้ รวมถึงการจัดการแข่งขันทางวิชาการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของชาวสาธิตในการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา งานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 จะเป็นก้าวสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ในการพัฒนาการศึกษา และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติต่อไป

รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ รักษาการรองอธิการบดีจุฬาฯ และคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า "จรณทักษะ" เป็นทักษะทางสังคม รวมถึงอุปนิสัย ความคิด จิตใจของบุคคลที่จะทำให้มีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข สามารถร่วมงานกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น นักเรียนที่มีจรณทักษะจะไม่เป็นผู้ที่ซึมเศร้า ทุกข์ท้อ ไม่มองโลกในแง่ร้าย แต่จะเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีความเข้าใจผู้อื่น สามารถแสดงออกทางสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับชาวโรงเรียนสาธิตในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตร ตลอดจนการจัดการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังจรณทักษะให้แก่นักเรียนตั้งแต่ในวัยเด็กจนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลาย เพื่อสร้างอัตลักษณ์สำคัญของนักเรียนโรงเรียนสาธิตทุกแห่งในการมีจรณทักษะที่สมบูรณ์พร้อม ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์สังคมไทยในอนาคต

อ.ศรียา เนตรน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และ อ.พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม เปิดเผยว่า นักเรียนโรงเรียนสาธิตมีความรู้ในเรื่อง Hard Skills ที่จะใช้ในการประกอบวิชาชีพและใช้ชีวิตในอนาคตอยู่แล้ว จรณทักษะเป็น Soft Skills ที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและทำให้มีทักษะในการทำงานได้อย่างมีความสุข ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ มีความสามารถในการสื่อสารและทำงานเป็นทีม และสามารถอยู่รอดในสังคมได้ การให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้เพิ่มเติมจะทำให้นักเรียนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมและแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรู้เท่าทัน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและส่งต่อความรู้นี้แก่เพื่อนนักเรียนทั้งในโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน

ส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่น่าสนใจที่นำเสนอในงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9

 - ผลงาน Narcolepsycue

อุปกรณ์ป้องกันการหลับใน โดยจะมีกล้องตรวจจับใบหน้า บริเวณดวงตา และมีการกำหนดจุดไว้รอบเปลือกตา หากจุดบน จุดล่างมาชนกัน จะถือว่าเป็นการกระพริบตา และมีเกณฑ์ในการตรวจจับใบหน้า หากระบบตรวจพบว่า ง่วง ตัวระบบก็จะสั่งงานให้พ่นสเปรย์วาซาบิมาบริเวณใบหน้า

- ผลงาน The Brainny Booster

นวัตกรรมเครื่องเล่นชะลอความเสื่อมทางสมองของผู้สูงอายุ โดยไม่กระทบการมองเห็นผ่านหน้าจอ ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มได้ มีหลายด่านและหลายระดับความยาก ทำให้ไม่เบื่อง่าย ปุ่มกดใหญ่ มีสีสันชัดเจนเหมาะกับผู้สูงอายุ

- ผลงาน Touchless Eco-Sink

ซิงค์น้ำไร้สัมผัส สามารถแยกน้ำได้สองประเภทเป็นน้ำดี น้ำเสีย น้ำดี สามารถนำกลับมาใช้ในการรดน้ำต้นไม้ หรือ ใช้งานต่าง ๆ ในบ้านได้ เช่น เมื่อล้างแก้วน้ำปกติโดยไม่ใช้น้ำยา น้ำที่ใช้แล้วจะแยกท่อไปน้ำดี หากเป็นน้ำที่ปนเปื้อน ก็จะเป็น black water คือลงท่อน้ำทิ้งปกติ

- ผลงาน Justplaster

พลาสเตอร์ติดแผลชนิดย่อยสลายได้ โดยผลิตจากเส้นใยผักตบชวา และใช้ใบสาบเสือเป็นส่วนผสมของตัวยาบนพลาสเตอร์ ช่วยในการบรรเทาอาการบาดเจ็บเบื้องต้น

- ผลงาน RETRASH

ซอฟต์แวร์ที่สามารถทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันและเครื่องจัดการขยะ สามารถติดตั้งใช้งานในโรงเรียนหรือองค์กร ในการช่วยติดตามแยกขยะและเก็บค่าสถิติของขยะ เพื่อให้จัดการขยะได้อย่างเหมาะสม โดยสามารถค้นหาเครื่องรีไซเคิลขวดพลาสติกหรือขยะอื่นๆที่ใกล้ที่สุด และตรวจสอบสถานะปัจจุบันและความจุของเครื่องจัดการขยะได้ทุกเครื่อง พร้อมทั้งมีระบบการสะสมคะแนนที่ใช้ในการรวบรวมสถิติและดึงดูดให้ร่วมกันแยกขยะ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานสาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9 ได้ที่ www.satitacademic9.chula.ac.th

หรือ https://www.facebook.com/profile.php?id=61552285956417

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดงาน "สาธิตวิชาการ ครั้งที่ 9" ชี้ความสำคัญของ"จรณทักษะ" Soft Skills ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนอนาคต