จากสถานการณ์ปัจจุบัน อัตราของผู้ติดยาเสพติดยังคงสูงและอยู่ในวัยเยาวชนที่แนวโน้มจะมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ โดยในประเทศไทยยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดและมีการเสพติดสูงสุด คือ ยาบ้า ทั้งนี้จากข้อมูลของผู้ติดยาเสพติดพบว่าอายุเฉลี่ยของการใช้ยาเสพติดในครั้งแรก คือ 15-19 ปี ถือว่าเป็นช่วงวัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีอยู่มากมาย หลายข้อมูลไม่ผ่านการกลั่นกรอง บิดเบือนทำให้โดนชักจูงเข้าสู่วงจรเสพยาเสพติดได้โดยง่าย โดยเฉพาะ ยาบ้า ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดที่เป็นปัญหาสูงสุดของประเทศไทย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยว่า "นโยบายปัจจุบันมุ่งเน้นให้หมู่บ้าน/ชุมชนมีความปลอดภัยจากปัญหายาบ้า สร้างความเชื่อมั่น ความพึงพอใจของประชาชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีนำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำหนดเป้าหมาย ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด และยกเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องได้รับการแก้ไขให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายในการป้องกันยาเสพติดที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 13-19 ปี ซึ่งเป็นวัยรุ่นที่มีพลังสร้างสรรค์ ถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานป้องกันยาเสพติดที่สำคัญที่จะเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสังคมปลอดภัยจากยาเสพติด"
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) โดย พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้เปิดเผยว่า "ในฐานะที่สำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานยาเสพติดของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับเด็กและเยาวชน จึงได้กำหนดนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ใขปัญหายาเสพติด พ.ศ.2566 - 2570 โดยเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ผ่านการเรียนการสอน รวมถึงช่องทางการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน นับเป็นช่องทางสำคัญที่สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนได้อย่างทั่วถึง อีกทั้ง สอดคล้องกับความสนใจของช่วงวัย ทั้งนี้ เพื่อให้การสื่อสารถึงเยาวชนเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะการสื่อสารให้รู้เท่าทันโทษพิษภัย ยาบ้า ที่เป็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย"
สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ภายใต้ชื่อกิจกรรมสื่อสาร สร้างสรรค์ รู้เท่าทันยาบ้า (Be Smart Say No to Drugs) ซึ่งเป็นการประกวดคลิปวิดีโอสั้น (ไม่เกิน 1 นาที) ผ่านแพลตฟอร์มติ๊กต็อก (TikTok)
ภายใต้คอนเซปต์ "How to say no to Yaba ?" ผู้ส่งผลงานอายุ 13 - 19 ปี ที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา หรือเทียบเท่า ในสถานศึกษาทั่วประเทศ การประกวดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ (1) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า (ทีมละ 2-5 คน) และ (2) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา หรือเทียบเท่า (ทีมละ 2-5 คน) โดยในแต่ละทีมจะต้องอยู่สถานศึกษาเดียวกัน สำหรับการคัดเลือกผลงาน จะเริ่มคัดเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอจำนวน 878 อำเภอ แล้วคัดเลือกทีมชนะเลิศแต่ละอำเภอ มาแข่งขันเป็นตัวแทนของจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้ามาตัดสินในระดับประเทศต่อไป
โดยชิงเงินรางวัลรวมทุกระดับกว่า 24 ล้านบาท ทั้งนี้ กิจกรรมสื่อสาร สร้างสรรค์ รู้เท่าทัน ยาบ้า (Be Smart Say No to Drugs) เริ่มเปิดรับผลงานตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยสามารถส่งผลงานผ่านช่องทางwww.besmartsaynotodrugs.com
กิจกรรมนี้ มุ่งหวังที่จะสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับเยาวชน ให้ห่างไกลจากยาบ้า และรับรู้ถึงโทษพิษภัยผลกระทบจากการใช้ยาเสพติด การใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการสร้างการรับรู้จึงถือเป็นเครื่องมือหลักในการที่จะช่วยสื่อสาร และเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการเข้าถึงเยาวชน ได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องการที่จะให้เยาวชน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์สื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัล สำนักงาน ป.ป.ส. จะนำมาใช้ในการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อสร้างกระแสให้เยาวชนห่างไกลจากยาบ้า พร้อมทั้ง ดำเนินการตามแผนงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยผ่านกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนมีทักษะการใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากยาเสพติด พร้อมทั้งรู้เท่าทันโทษพิษภัยยาบ้า สามารถใช้ชีวิตและเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพเป็นกำลังพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.besmartsaynotodrugs.com หรือ Facebook : Be Smart Say No to Drugs และ Tiktok : besmartsaynotodrugs ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit