คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 "Artificial Intelligence Integrated into Urban Medicine (การบูรณาการปัญญาประดิษฐ์กับเวชศาสตร์เขตเมือง)"
ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Artificial intelligence (AI) และ Robotics เป็นเทคโนโลยีที่ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์หลาย ๆ ด้าน รวมถึงในสาขาสุขภาพและการแพทย์ก็เป็นอีกสาขาหนึ่ง ที่นำเทคโนโลยี AI และ Robotics มาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรค การเก็บข้อมูลและการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย การใช้หุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัด การเรียนการสอน การวิจัย ฯลฯ
ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มุ่งมั่นพัฒนายกระดับการจัดบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ สร้างองค์ความรู้ วิจัย และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในเขตเมือง ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงได้จัดประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ "Artificial Intelligence Integrated into Urban Medicine (การบูรณาการปัญญาประดิษฐ์กับเวชศาสตร์เขตเมือง)" เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง AI : Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ นำมาประยุกต์ใช้พัฒนานวัตกรรมด้านต่าง ๆ รวมถึงการเรียนการสอน และการวิจัย โดยมี รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นประธานในพิธี เปิดการประชุม ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4 - 5 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุม 1 - 2 ชั้น 6 อาคารทีปังกรรัศมีโชติ
ผศ.นพ.จักราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกได้รับการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนา อยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีเข้ามาแทรกซึมในชีวิตประจำวันทั้งการสื่อสาร การขนส่งหรือการเดินทาง รวมไปถึงการแพทย์ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการรักษา ส่งผลดีทั้งผู้ให้บริการและผู้ขอรับบริการ และคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นด้านเวชศาสตร์เขตเมือง ก็มีการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการจัดการปัญหาสุขภาพของคนเมืองด้วย และการจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการครั้งนี้ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและเป็นเวทีให้บุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขทั้งในคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล บุคลากรส่วนงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และในเครือกรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ด้านการแพทย์ สาธารณสุข เวชศาสตร์เขตเมือง การเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมไปถึงให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถนำ AI มาใช้ในการเรียนการสอน การวิจัย การดูแลรักษาผู้ป่วย ด้วย
รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เราคุ้นเคยในนามย่อว่า AI เป็นผลลัพธ์จากเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาในรูปแบบโปรแกรมหรือเครื่องมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน ช่วยวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว ก่อให้เกิดการริเริ่มนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย อาทิ การพัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ การเข้าถึงการรักษา การคัดกรองโรคเบื้องต้น รวมถึงการวินิจฉัย ถือเป็นการยกระดับการรักษาสุขภาพ ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งความสำคัญของเทคโนโลยี จะมีความก้าวหน้าในสังคมทั่วโลกเป็นนัยยะให้เราตื่นตัวถึงการเปลี่ยนแปลง ที่จะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ในฐานะผู้นำด้านเวชศาสตร์เขตเมืองและโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้นำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงาน "ดุสิตโมเดล" ที่มุ่งเน้นผู้คนในสังคมเมือง ดำเนินงานผ่านระบบสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์และโทรเวชกรรม Vajira@home รวมไปถึงนำนวัตกรรมล้ำสมัยอย่าง For Xair System เครื่องเอกซเรย์แบบพกพาที่มาพร้อม AI จากฟูจิฟิล์ม มาใช้ในภารกิจคัดกรองวัณโรคเชิงรุก เพื่อลดขั้นตอนการตรวจและประมวลผล
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "AI กับการพัฒนาระบบโรงพยาบาล" รวมถึงวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลากหลายสาขา ร่วมบรรยายและเสวนาทางวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ จากบุคลากรด้านการแพทย์ สาธารณสุข เติมเต็มความรู้ล่าสุดเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) มุ่งเน้นความเข้าใจบทบาทสำคัญของเวชศาสตร์เขตเมือง อีกทั้งมีกิจกรรม Workshop การใช้ Chat GPT อย่างมืออาชีพ