จุฬาฯ เปิดโลกการเรียนรู้สู่สากล สร้างศักยภาพคนไทยสู่ผู้นำ จัด Chulalongkorn University President's Distinguished Speakers คิกออฟครั้งแรกไฮไลท์หัวข้อ "ผู้นำบนโลกแห่งความไม่แน่นอน" โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำจากมหาวิทยาลัยดัง CGU สหรัฐอเมริกา
Chulalongkorn University President's Distinguished Speakers จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ Next Tech ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอน การจัดทอล์กครั้งนี้นับเป็นจุดสตาร์ทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จับมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของประเทศ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) แต่ต้องสร้างสร้างผู้นำตลอดชีวิต (lifelong leading) ทั้งกับนิสิตและบุคคลทั่วไป
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางที่จุฬาฯ กำลังปรับบทบาทสู่โลกอนาคตว่าการดึงผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาบรรยายจะเป็นการแบ่งปันความรู้และสร้างแรงบันดาลใจที่มีคุณค่าให้กับคนไทยไม่เฉพาะนิสิตนักศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้วย จึงกำหนดให้จัดทอล์กต่อเนื่องภายใต้ชื่อ "Chulalongkorn University President's Distinguished Speakers" โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและนานาชาติมาเป็นแขกสำคัญของอธิการบดีจุฬาฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สังคมไทย
สำหรับหัวข้อของงานดังกล่าวในครั้งแรก คือ "การเป็นผู้นำในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว" ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในขณะที่เรากำลังผ่านยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และความท้าทายที่ไม่เคยมีมาก่อน
ทั้งนี้การปาฐกถาพิเศษครั้งที่ 1 ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.มิเชล บลาย (Prof. Dr. Michelle Bligh) รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและอธิการบดีฝ่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ เกร็ดดูเอท, สหรัฐอเมริกา (Claremont Graduate University :CGU) ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นผู้นำ มาเป็นองค์ปาฐก
"จุฬาฯ ไม่ได้สร้างนิสิตเป็นผู้นำเพียงเดียว แต่เราต้องการสร้างให้คนไทยเป็นผู้นำ" ศ.ดร.วิเลิศ ย้ำอีกว่าบทบาทมหาวิทยาลัยไม่ได้จำกัดเรื่องของการศึกษา และการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป จุฬาฯ จะเป็นพื้นที่ให้ความคิด ภูมิปัญญาสำหรับทุกคนในประเทศไทย
"หน้าที่ของเราในการสร้างผู้นำ ไม่ได้เป็นผู้นำแค่ในประเทศ แต่อยากให้บุคลากรของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นในบริษัทเอกชน หรือองค์กรภาครัฐเป็นผู้นำข้ามชาติ อยากเห็นประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านการศึกษา" ศ.ดร.วิเลิศ บอกถึงหมุดหมายของจุฬาฯ
แต่จะทำอย่างไรให้เกิดผู้นำตามเป้าประสงค์ เครื่องมือหนึ่งคือ "Chulalongkorn University President's Distinguished Speakers" ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การจัดทอล์กแต่จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนรู้สึกว่าเราสามารถทำได้มากกว่านี้ และเราเป็นนักสร้างได้
ศ.ดร.วิเลิศ ระบุว่าโครงการ Chulalongkorn University President's Distinguished Speakers จะทำต่อเนื่อง โดยจะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญของแต่ละสาขามาแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดอย่างต่อเนื่อง
"ถ้าเราไปนั่งเรียนนั่งอ่านในเอกสารเดิม ๆ ความรู้อาจล้าสมัยได้ แต่การทำกิจกรรมบรรยายสดเช่นนี้ จะทำให้ความรู้ไม่ล้าสมัย" ขณะเดียวกันจุฬาฯ จะนำเนื้อหาเผยแพร่ในทุกๆ ช่องทางโซเชียลมีเดีย ทั้งยูทูป หรือ พอดแคสต์ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้
สำหรับการบรรยายโดย ศ.ดร.มิเชล บลาย (Prof. Dr. Michelle Bligh) นั้น เนื้อหานำสู่ความกระจ่างถึงคำว่าผู้นำและผู้ตามได้อย่างดี โดยในโลกยุคปัจจุบันความต้องการความเป็นผู้นำมีมากขึ้นกว่าเดิม แต่น่าเสียดายที่สังคมฝึกอบรมและพัฒนาผู้ตามได้ดีกว่าตั้งแต่ตอนที่เรายังเป็นเด็กเล็ก ๆ ต่างได้รับการฝึกฝนให้เป็นผู้ตามมากกว่า แต่ความท้าทายคือโลกในปัจจุบันต้องการผู้นำมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เราไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้นำ เราเดิมพันไว้กับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหนือความสามารถและความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ ขณะที่ AI ก็ไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้ ดังนั้นสถาบันการศึกษาจะต้องสร้างตัวเองใหม่ เพื่อค้นหาและ สนับสนุนผู้เรียนตลอดชีวิตไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน และตอบสนองต่อความรู้ที่เขาต้องการ
ส่วนภาวะผู้นำนั้นหมายถึงความสามารถ แรงจูงใจ และความต้องการที่จะมีอิทธิพลต่อผู้อื่น ซึ่งถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงจำเป็นต้องทำงานให้ดีขึ้นในการสอนและเตรียมความพร้อมภาวะผู้นำ และใช้ AI ให้เป็นผู้ช่วยในการพัฒนาทักษะ กลยุทธ์ และเคล็ดลับบางประการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนั้นเราต้องช่วยกันส่งเสริมภาวะผู้นำที่แท้จริง ที่มีทั้งจริยธรรม ความอดทน ความเมตตา และการดูแล
การพัฒนาทักษะผู้นำดังกล่าวจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงและผู้แนะนำที่มีทักษะช่วยเหลือในระหว่างทาง ซึ่งการมีเครือข่ายที่ดีสำคัญมาก ทั้งนี้คุณสมบัติของผู้นำ ประกอบด้วย 1.ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และต้องรักษาความซื่อสัตย์และสม่ำเสมอต่อ passion ค่านิยม และเป้าหมายของตนเองด้วย 2.อ่อนน้อมถ่อมตน 3.ความเมตตา
"ผู้ที่ใช้ผู้ติดตามอย่างสิ้นเปลืองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั่นไม่ใช่การเป็นผู้นำ นั่นเป็นการใช้อำนาจ และการใช้อำนาจไม่ได้หมายความว่าเป็นการเป็นผู้นำ แค่ต้องการอำนาจเท่านั้น"
สำหรับกิจกรรม Chulalongkorn University President's Distinguished Speakers จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 จะจัดขึ้นในหัวข้อ "Revolutionizing the Future: An Exclusive Talk with "Andrew Ng" on Opportunities and Business Preparedness"
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit