มกอช. ขับเคลื่อน "ชัยนาทโมเดล" มุ่งพัฒนายกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง

27 Sep 2024

นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกร โดยใช้หลักการ "ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ด้วยการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อน Ignite Thailand : agriculture hub จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก ยกระดับภาคการเกษตรให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำในภาคการผลิต จนไปถึงการแปรรูปส่งออกไปยังตลาดโลก ตลอดห่วงโซ่ โดยได้จัดทำพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตร ซึ่งได้มีการดำเนินการในจังหวัดชัยนาท ภายใต้ชื่อ "ชัยนาทโมเดล"

มกอช. ขับเคลื่อน "ชัยนาทโมเดล" มุ่งพัฒนายกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง

"ชัยนาทโมเดล" คือ การพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรจำนวนมากกว่า 100 ครอบครัว ได้มีอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ โดยให้องค์ความรู้สนับสนุนแหล่งเงินทุน ใช้ปัจจัยการผลิตท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร และหาช่องทางการตลาด ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มากกว่าการผลิตพืชเพียงอย่างเดียว ลดความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาด ชัยนาท มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อทุกสายพันธุ์มีทั้งหมด 3,557 ราย ปริมาณการผลิตโคเนื้อ 58,088 ตัว การเลี้ยงโค ถือว่าเป็นอาชีพที่ทำรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโคเป็นสัตว์ที่กินง่ายโตไว อีกทั้งปัจจุบันมีความต้องการการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ชัยนาทบีฟ ทำให้โคเนื้อมีความโดดเด่น "เนื้อโคมีความนุ่ม อุ้มน้ำ ไขมันแทรกสูง" จึงเป็นที่มาของเนื้อโคที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และเป็นที่ยอมรับในตลาดเกรดพรีเมี่ยม จึงทำให้จังหวัดชัยนาทสามารถผลิตสินค้าที่มีอัตลักษณ์ เป็นเนื้อโคคุณภาพประจำจังหวัดชัยนาท ที่เรียกว่า "โคหนุ่ม เนื้อนุ่ม ลุ่มเจ้าพระยา"

ปัจจุบัน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อสายพันธุ์ชัยนาทบีฟ 320 ราย และเกษตรกรเครือข่าย 711 ราย คิดเป็นผลผลิตโคเนื้อสายพันธุ์ชัยนาทบีฟ เพศผู้ ประมาณ 1,600 ตัว/ปี ราคาขายโคเนื้อเพิ่มขึ้น จากเดิม 80 บาท/กิโลกรัม เป็น 110 บาท/กิโลกรัม มีรายได้และมีความมั่นคงทางอาชีพเพิ่มขึ้น อย่างน้อยคนละ 247,500 บาท/ราย/ปี มกอช. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดชัยนาท ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกณฑ์กาหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความสอดคล้องเป็นไปตามมาตรฐาน มีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า และยังทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อมีศักยภาพเพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อของตนเองให้เป็นอาชีพที่มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน "นอกจากนี้ มกอช.ได้ส่งเสริมการใช้เครื่องหมาย Q คือ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ปฏิบัติตามมาตรฐานและขอการรับรองมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อและเลือกบริโภคสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และเชื่อมั่นในความปลอดภัย ผ่านทาง ร้าน Q market สถานที่จำหน่ายสินค้า Q ประเภทโมเดิร์นเทรด และร้านอาหาร Q Restaurant" รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว

HTML::image(