กรุงเทพฯ 30 สิงหาคม 2567 - กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) รับนโยบายจาก "รมว.พิมพ์ภัทรา" ทุ่มงบช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเหตุอุทกภัยวงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถยื่นขอรับสิทธิในการผ่อนผันชำระหนี้ การลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และสิทธิในการยื่นขอกู้วงเงินเพิ่มเติม สำหรับลูกค้ารายใหม่สามารถยื่นขอรับวงเงินได้ไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และฟื้นฟูกิจการให้มีโอกาสฟื้นตัวในการประกอบอาชีพ หรือประกอบธุรกิจได้ต่อไปในอนาคต พร้อมวางแผนฟื้นฟูสถานประกอบการหลังน้ำลด นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานเครือข่าย รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภค บริโภค และน้ำดื่ม ส่งมอบให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงได้เตรียมการช่วยเหลือผู้ประกอบการพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะเกิดเหตุอุทกภัยขึ้นในอนาคต
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาได้เกิดมีมรสุมและฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายจังหวัดของภาคเหนือ ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน และจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 33 อำเภอ 152 ตำบล 929 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวนกว่า 21,000 ครัวเรือน ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งส่วนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือในส่วนของเครื่องจักร อุปกรณ์ในการผลิต วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อาคารและสิ่งปลูกสร้างถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดย นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ด้วยการให้สิทธิพักชำระหนี้ การลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษ สำหรับลูกค้ารายใหม่ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และฟื้นฟูกิจการให้มีโอกาสฟื้นตัวในการประกอบอาชีพ หรือประกอบธุรกิจได้ต่อไป โดยกำหนดกรอบวงเงิน 20 ล้านบาทสำหรับการให้ความช่วยเหลือ ภายในกรอบระยะเวลา 90 วันนับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการดังกล่าว
นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนมาตรการบรรเทาและฟื้นฟูเพื่อให้ความช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น 5 กรณี คือ 1) ได้รับสิทธิขอกู้เงินเพิ่มเติม กรณีลูกหนี้เดิมที่ชำระหนี้เป็นปกติ โดยเมื่อรวมยอดหนี้คงเหลือแล้ว ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ไว้เดิม 2) ได้รับสิทธิการขอกู้ใหม่ กรณีผู้ขอกู้รายใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ต่อราย/กิจการ 3) ได้รับสิทธิการพักชำระหนี้ เป็นเวลาไม่เกิน 4 เดือน 4) ได้รับสิทธิการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับจากวันลงนามเอกสารเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญากู้เงิน และ 5) ได้รับสิทธิขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ได้ไม่เกิน 2 ปี
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับการช่วยเหลือจะต้องเป็นลูกหนี้เดิมซึ่งอยู่ในระหว่างการผ่อนชำระเงินกู้ และได้รับความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ไม่รวมถึงลูกหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนผู้ขอกู้รายใหม่จะต้องเป็นผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย และได้รับความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยผู้ประกอบการที่เข้าข่ายนี้จะต้องมีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นคำขอได้ด้วยตนเองได้ที่ กลุ่มบริหารเงินทุน สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ชั้น 4 ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0 2430 6865 - 66 ต่อ 1051 หรือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 ที่ประจำอยู่ในแต่ละเขตพื้นที่รับผิดชอบ หรือส่งคำขอทางไปรษณีย์มาที่อยู่ที่กล่าวในขั้นต้น โดยให้ถือวันที่ที่ไปรษณีย์ประทับตรารับจดหมายเป็นวันยื่นคำขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งผู้ขอใช้สิทธิตามมาตรการนี้จะต้องมีสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และจะต้องยื่นคำขอรับความช่วยเหลือ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่จังหวัดที่ประสบภัยประกาศให้พื้นที่นั้น เป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานเครือข่าย รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภค บริโภค และน้ำดื่ม จัดทำ "ถุงปันน้ำใจ" ส่งมอบให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า พร้อมวางแผนฟื้นฟูสถานประกอบการหลังน้ำลด โดยส่งทีมวิศวกรและนายช่างเทคนิค ช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ในเบื้องต้น รวมทั้งทำกิจกรรม Big Cleaning เพื่อฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วมให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว อีกทั้ง ยังมีการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรม โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา เพื่อเข้าประเมินสภาพปัญหาและวางแผนการฟื้นฟูในสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM BSC) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวในการปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM ITC) จัดกิจกรรมในการช่วยเหลือ แนะนำในการปรับปรุง ซ่อมแซม และฟื้นฟูเครื่องจักรให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ และมีการบริหารความเสี่ยง เพื่อเตรียมการรับมือหากเกิดปัญหาขึ้น รวมถึงได้เตรียมการช่วยเหลือผู้ประกอบการพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะเกิดเหตุอุทกภัยขึ้นในอนาคต นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit