ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ไออาร์พีซี ที่ 'BBB+(tha)' และเพิกถอนอันดับเครดิต

27 Aug 2024

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่ 'BBB+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F2(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตทั้งหมดของ IRPC

การประกาศคงอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า อัตราส่วนหนี้สินของ IRPC ยังคงปรับตัวลดลงตามที่เคยคาดการณ์ไว้ ไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 6.5 เท่า ภายในปี 2568 เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ IRPC ที่ 'BBB+(tha)' ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับ จากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ IRPC ซึ่งอยู่ที่ bbb-(tha) ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (มีอันดับเครดิตที่ AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่งกว่า จะให้การสนับสนุนแก่ IRPC

ฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตทั้งหมดของ IRPC ตามแผนพัฒนาธุรกิจของฟิทช์

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินลดลงอย่างต่อเนื่อง: ฟิทช์คาดว่า หนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) ของ IRPC จะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่า ณ สิ้นปี 2567 จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 9.1เท่า ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2567 (ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่12.5 เท่า) แต่ยังคงอยู่ระดับสูงกว่า 6.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 6.5 เท่า ในปี 2568 จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตามอุปสงค์ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ ที่อ่อนแอ อาจทำให้การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินล่าช้าออกไป ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินจะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับประมาณ 5 เท่าในปี 2569 แต่อาจจะอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาดได้ ถ้ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1.0 หมื่นล้านบาท อัตราส่วน EBITDA net leverage ของ IRPC ที่อยู่ในระดับสูงในปี 2566 เป็นผลมาจาก EBITDA อ่อนแอ และหนี้สินที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงกว่าที่คาด

ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอ่อนตัว: ฟิทช์คาดว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะยังคงอ่อนแอในปี 2567 แม้ว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นบ้างจากปี 2566 ที่อยู่ในระดับต่ำ ฟิทช์คาดว่า ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศจีน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้าลง และสภาวะกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ จะยังคงกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ฟิทช์เชื่อว่าความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะจากการที่ฟิทช์คาดการว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจีนจะยังคงต่ำกว่าในช่วงก่อนการเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด อย่างน้อยจนถึงปี 2569 ในขณะที่กำลังการผลิตใหม่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกำลังการผลิตโพลิโพรพิลีน ฟิทช์คาดว่ากำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรม น่าจะเริ่มลดลงหลังจากปี 2567 ซึ่งน่าจะทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ค่อยๆ ฟื้นตัว

กำไรที่ปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ IRPC จะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 8.5 พันล้านบาท ในปี 2567 (ครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 5.2 พันล้านบาท) จากระดับที่ต่ำมากในปี 2563 (5.2 พันล้านบาท) โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ที่ค่อยๆ ฟื้นตัว จากระดับต่ำในปี 2566 และธุรกิจกลั่นน้ำมันที่ยังคงแข็งแกร่ง EBITDA น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเป็นประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 จากอุปสงค์ และอุปทานในธุรกิจปิโตรเคมีที่สมดุลมากขึ้น ฟิทช์คาดว่าค่าการกลั่นของ IRPC ในปี 2568 จะยังคงอยู่ในระดับที่ดี ที่ประมาณ 5-5.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

การลงทุนที่ลดลง: IRPC น่าจะมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนเฉพาะในโครงการที่จำเป็นและได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว (Committed project) ในปี 2567-2568 ซึ่งเป็นช่วงที่สภาวะตลาดยังอ่อนแอและอัตราส่วนหนี้สินยังคงสูง ได้แก่ โครงการปรับปรุงการผลิตเพื่อที่จะรองรับมาตรฐานน้ำมัน EURO5 หรือ UCF project และค่าใช้จ่ายเพื่อการบำรุงรักษา โดยบริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6.0 พันล้านบาทในปี 2567 และ1.1 พันล้านบาทในปี 2568 ลดลงจาก 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่า IRPC น่าจะกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากสถานะทางการเงินได้ปรับตัวดีขึ้น เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดพิเศษ (Specialty) ให้มากขึ้น

การขยายเทอมการชำระเงินยังคงต่อเนื่อง: ฟิทช์คาดว่า IRPC จะยังคงเทอมการค้าในการซื้อน้ำมันดิบกับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ที่ 90 วัน อย่างน้อยจนถึงปี 2568 IRPC ได้มีการเพิ่มเทอมการค้าฯ เป็นประมาณ 90 วันโดยเฉลี่ยในปี 2566 ซึ่งการเพิ่มเทอมการค้านี้ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลง และลูกหนี้การค้าจากกองทุนน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดรับจากการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจาก EBITDA ที่อ่อนตัว และค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้หนี้สินสุทธิของบริษัทฯ ลดลง เทอมการค้าฯ 90 วันจากปตท. ได้มีต่ออายุไปอีกหนึ่งปีจนถึงสิ้นปี 2567 และสามารถต่ออายุได้อีก จากการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย

UCF ช่วยเพิ่มประสิทธิการกลั่น: IRPC คาดว่าโครงการ UCF ซึ่งน่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2567 จะเพิ่มหน่วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่น (Upgrading units) และเพิ่มประสิทธิภาพในการกลั่นน้ำมัน (Refinery complexity) ค่า Nelson Complexity Index ของโรงกลั่นของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 จาก 8.6 ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนค่าการกลั่นที่สูงขึ้นตลอดวัฏจักรของอุตสาหกรรม

โรงกลั่นน้ำมันแบบครบวงจร: IRPC มีความได้เปรียบในการแข่งขันในฐานะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจผลิตปิโตรเคมีแบบครบวงจรที่มีความชำนาญและมีประวัติอันยาวนานในประเทศไทย นอกจากนี้การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาและแผนการลงทุนในอนาคตของ IRPC ยังนำไปสู่การผลิตปิโตรเคมีที่มากขึ้น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรจากต้นน้ำไปยังปลายน้ำมีข้อได้เปรียบด้านค่าใช้จ่าย ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และความผันผวนของรายได้ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิตที่ไม่ได้ผลิตแบบครบวงจร อย่างไรก็ตาม รายได้ส่วนใหญ่จะยังคงมาจากธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ของรายได้รวมสุทธิในปี 2567 IRPC มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าเพิ่ม (High-value-added products) เป็นร้อยละ 38 ของปริมาณผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ขายในปี 2567 (ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 33)

ความผันผวนของธุรกิจและการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว: อันดับเครดิตของ IRPC ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ และความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว ความผันผวนของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับต้นทุน และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูง อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไร และกระแสเงินสดของบริษัทฯ

ความสัมพันธ์กับปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ IRPC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ IRPC ซึ่งอยู่ที่ 'bbb-(tha)' ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ IRPC ในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และด้านดำเนินงาน (Operational incentive) ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่าธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น ซึ่ง IRPC เป็นหนึ่งในบริษัทหลักของธุรกิจนี้ มีความสำคัญต่อ ปตท.

IRPC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีหลักของ ปตท. ที่มุ่งเน้นทางด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream products) และใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบ นอกจากนี้ ความสำคัญยังเห็นได้จากการที่ ปตท. ได้ขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบให้กับ IRPC เพื่อช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนสูง ในขณะที่แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านกฎหมาย (Legal incentive) อยู่ในระดับต่ำ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ IRPC สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย อย่างไรก็ตามสถานะทางธุรกิจของ IRPC อยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ในขณะที่ IRPC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว IRPC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC (มีอันดับเครดิตที่ 'BBB+(tha)' แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ 'bbb(tha)') อย่างไรก็ตาม HMC มีเทคโนโลยีด้านการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ก้าวหน้ากว่า IRPC และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า IRPC แม้ว่าจะไม่พิจารณารวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจาก HMC มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว

ฟิทช์มองว่าบริษัททั้งสองมีสถานะทางธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ HMC มีสถานะทางการเงินที่ที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้น HMC จึงมีอันดับเครดิตโดยลำพังสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ HMC สะท้อนถึงความเสี่ยงในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ภายในสองถึงสามปีข้างหน้า

เมื่อเทียบกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP (มีอันดับเครดิตที่ A+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดยมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) IRPC มีโรงกลั่นน้ำมันที่คอมเพล็กซ์น้อยกว่าและมีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า แต่มีการผลิตปิโตรเคมีที่มากกว่า TOP มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่าในระยะยาว เนื่องจาก TOP สามารถดำเนินการกลั่นน้ำมันโดยใช้กำลังการผลิตที่เต็มที่มากกว่า ดังนั้นอันดับเครดิตของ IRPC จึงต่ำกว่าของ TOP แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับบริษัทแม่ที่เหมือนกัน

IRPC มีขนาดธุรกิจและธุรกิจปิโตรเคมีที่เล็กกว่าบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (มีอันดับเครดิตที่ AA(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ โดยมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ a+ (tha)) มาก และยังมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่ต่ำกว่า PTTGC

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

  • ราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ที่ราคา 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567, 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569 และปี 2570 และ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2571 เป็นต้นไป โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ IRPC
  • ใช้กำลังการกลั่นน้ำมันที่ประมาณ 192,000 ถึง 195,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี 2567-2568
  • Gross integrated margins (ธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี) ที่ไม่รวมกำไร/ขาดทุนจากมูลค่าสต๊อกน้ำมัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2567 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2568 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาทในปี 2567 และปีละ 2-4 พันล้านบาทในปีต่อๆ ไป
  • เทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อน้ำมันดิบจากปตท. 90 วัน ต่อเนื่องในปี 2567-2568 และค่อยๆ ลดลงเหลือ 30 วันภายในปี 2570

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ไม่มี เนื่องจากฟิทช์ประกาศยกเลิกอันดับเครดิต

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่จัดการได้: IRPC มีหนี้สินคงค้าง ณ สิ้นปี 2566 จำนวน 7.1 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทจะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือน ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจำนวน 7.2 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระจำนวน 8.9 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 2 พันล้านบาท IRPC มีแผนที่จะกู้เงินจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อใช้ชำระเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน โดยเงินกู้จำนวน 9 พันล้านบาทได้รับการอนุมัติแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการอนุมัติ

สภาพคล่องของ IRPC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่มีอยู่จำนวน 6.2 พันล้านบาท และวงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถเบิกกู้ได้จาก ปตท. จำนวน 1.0หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ IRPC ยังมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (Committed working-capital facilities) มูลค่าประมาณ 3.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567