กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก" ปีที่ 3 กระตุ้น Active Aging

22 Aug 2024

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก" ปีที่ 3 เพื่อพัฒนาผู้สูงอายุให้ก้าวทันเทคโนโลยี ลดช่องว่างระหว่างวัย และกระตุ้นเรื่อง Active Aging คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย พร้อมความสนุกสนาน มิตรภาพระหว่างกัน รวมไปถึงสร้างความผูกพันเป็นคอมมูนิตี้ให้กับการเข้าร่วมอบรม นอกเหนือจากนั้นยังจัดหนัก จัดเต็มในภาคทฤษฎี กับเนื้อหาการอบรมทักษะผลิตสื่อ เพื่อการผันตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์สูงวัยที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งสามารถใช้ประสบการณ์ช่วยเหลือสังคมในการคิด แยกย้าย วิเคราะห์ และรู้เท่าทันสื่อปลอม ที่มาหลอกลวงได้

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก" ปีที่ 3 กระตุ้น Active Aging

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว โดยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่งผลต่อการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร ในขณะที่ภูมิทัศน์สื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างผันผวน ทั้งรูปแบบ และการใช้งานสี่อ โดยที่ผ่านมาพบว่า *** มีผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงออนไลน์เป็นจำนวนมาก แต่ในอีกทางก็มีผู้สูงอายุที่สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อออนไลน์ได้ดีเช่นกัน (จากข้อมูล ในปี 2567 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) ที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าถึงและใช้งานอินเทอร์เน็ต เฉลี่ย 2 - 3 ชั่วโมง ต่อวัน และช่วงอายุ 50 - 54 ปี ที่กำลังจะก้าวสู่วัยผู้สูงอายุ ใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสูงถึง 4 - 5 ชั่วโมง ต่อวัน ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีพฤติกรรม พบว่า กิจกรรมยอดนิยม คือ การใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร แบ่งปัน มีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รูปภาพ ข้อความวิดีโอ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ร่วมกัน ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด และยังเกิดกระแสทำคลิป reels สร้างรายได้ในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นอีกด้วย)

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า และมีส่วนสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก กองทุนจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมผลิตเนื้อหาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับผู้สูงอายุ มาแล้ว 2 ปี ภายใต้ชื่อโครงการ "สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก" ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้สูงอายุ ในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีและมีส่วนร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม สามารถปรับตัวไปกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ และสร้างผลผลิตให้สังคมได้ สะท้อนจากผลของโครงการในปีที่ 1 และปีที่ 2 อีกด้วย

สำหรับโครงการ "สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก" นี้ ได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นโครงการต้นแบบที่ช่วยลดช่องว่างระหว่างช่วงวัย จึงมีจุดมุ่งหมายนำไปขยายผลในวงกว้างมากขึ้น นำมาซึ่งการดำเนินโครงการต่อเนื่องสู่ปีที่ 3 โดย จัดอบรมทักษะการผลิตสื่อ ให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มเติมความรู้ใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แพลตฟอร์ม Tiktok รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสื่อในปัจจุบัน และสร้างเครือข่ายรวมกลุ่มผู้อบรมทั้ง 3 รุ่น ประสานพลังความร่วมมือโดยมีเป้าหมายสร้างคลับจิทัล (ดิจิคลับ) สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักในคุณค่าของตนเอง ว่าสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เรามีความภูมิใจอย่างมาก จากโครงการ 2 ปีที่ผ่านมา เราได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ มาทำสกู๊ปข่าว เรื่องการสร้างสัมพันธ์ภาพระหว่างวัย ผ่านโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก และการปรับตัวของผู้สูงอายุในประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยสังคมไทยในวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลายมิติ ทั้งนี้สังคมไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 14 ล้านคน และนอกจากนี้อัตราการใช้สื่อออนไลน์ของไทย มีสัดส่วนผู้สูงอายุ เข้าถึงมากกว่าประเทศอื่น ๆ อีกด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักจะประสบภัยออนไลน์เยอะมาก ทั้งนี้โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก มี 3 เป้าหมายหลัก ด้านที่หนึ่งสื่อมีผลกระทบต่อทุกคนและในผู้สื่ออายุต้องปรับตัว ที่ 2 ทำอย่างไรให้ทุกคนที่ใช้สื่อออนไลน์รู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเราได้ให้องค์ความรู้ที่เข็มแข็ง ฉะนั้นการสื่อดิจิทัล เราจึงเน้นเป็นหนึ่งสาระสำคัญของทำโครงการนี้ต่อเนื่องทุกปี

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ 3 การให้ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่ในการปล่อยของ ไม่ว่าจะมาเป็น อินฟลูเอนเซอร์ หรือคอนเทนท์ครีเอเตอร์ได้ โดยมีผู้สอน การตัดต่อ พร้อมทั้งตรวจสอบว่าภาพและเสียงที่นำมาใช้มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ โดยในปีนี้มีความแตกต่างด้วย โครงการได้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 350 คน ซึ่งมีการทำกิจกรรมทั้งออนไซต์และออนไลน์ สำหรับกระแสตอบรับที่ผ่านของโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ด้าน ดร. ธนกร ศรีสุขใส เปิดเผยว่า มีการเติบโตขึ้นพอสมควร ผู้เข้าร่วมโครงการมาเป็นเครือข่ายผู้สูงอายุที่รู้เท่าทันสื่อ ซึ่งนี้คือต้นทุนทางสังคม เป็นทุนมนุษย์ที่มาช่วยกันทำหน้าที่ดูแลสังคม ดังนั้นจึงเปิดชมรม DIGI CLUB ที่ให้ทุกคนได้มาใช้ในพื้นที่พร้อมทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และดูแลซึ่งกัน ดูแลคนรอบข้าง รวมถึงการเพิ่มความสนุก ด้วยการใช้เพลงมาทำกิจกรรมอีกด้วย

ด้าน นายเทินพันธ์ แพนสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาสื่อสำหรับประชาชน กล่าวถึงรายละเอียดโครงการฯ ว่า
ปีนี้ โครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก 3 เน้นส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็น Active Aging สร้างการรวมกลุ่ม แสดงพลังอย่างสร้างสรรค์ และมีความสุขในช่วงเวลาที่มีเวลาเป็นของตนเองอย่างอิสระ ความพิเศษเพิ่มเติมคือเราจะมี เพลงและมิวสิกวิดีโอ ที่มีเนื้อหาสร้างกำลังใจ สร้างสรรค์โดย คุณสุเทพ ประยูรพิทักษ์ นอกจากนั้นโครงการ "สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก"ปีที่ 3 ยังมีการเพิ่มทักษะของการอบรมความรู้ใหม่ โดยแบ่งออกเป็น ๕ หลักสูตร ดังนี้ 1. YOLD Creator ผลิตสื่อด้วยโทรศัพท์มือถือ 2. YOLD Storyteller นักเล่าเรื่องออนไลน์วัยเก๋า 3. YOLD Digital Literacy รู้ทันสื่อ ต่อต้านข่าวลวง ข่าวปลอม 4. YOLD Influencer สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ 5. AI For senior รู้จัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ จาก AI โดยโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก 3 มีการอบรมทั้งแบบออนไลน์ และออนไซต์ และยังมีเพลงสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก และมิวสิกวิดีโอ ที่มีเนื้อหาสร้างกำลังใจ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็น Active Aging สร้างการรวมกลุ่ม แสดงพลังอย่างสร้างสรรค์ พร้อมท่าเต้นช่วยฝึกสมองประกอบเพลงสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ให้มีความสุขในช่วงเวลาที่มีเวลาเป็นของตนเองอย่างอิสระ

รวมทั้งดิจิคลับ โดยศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ได้ทุกที่ทุกเวลา ผู้สูงวัยสามารถเข้าร่วมกิจกรรม ดิจิคลับไลฟ์ ที่จัดขึ้นทุกวันพฤหัสบดี ทาง Facebook : สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก โดยมีทั้งหมด 5 คลาส ดังต่อไปนี้

  1. DIGI CLUB คลาส เต้นต้านโรค สุดมันส์เพราะหัวใจมันยังเวิร์ก โดย ครูมาร์ค ธีระธาดา
    จีนจะโป๊ะ
  2. DIGI CLUB คลาส ศิลปะ วาดสีสันชีวิต โดย ลุงน้อย สุรินทร์ สนธิระติ
  3. DIGI CLUB คลาส ปรับบุคลิกภาพ แต่งหน้า ปรับลุกส์ โดย โค้ชวีณา ทองแถม ณ อยุธยา
  4. 4. DIGI CLUB คลาส อาหารตา อาหารใจ กินอย่างไรให้มีความสุข โดย ครูป๊อบ อักขราทร ศิลปี
  5. 5. DIGI CLUB คลาส บอร์ดเกม ฝึกสมอง โดย กานต์ มานะแก้ว จากสมาคมบอร์ดเกม ฯลฯ โดยการอบรมบ่มเพาะทักษะการผลิตสื่อนั้น ยังมีบัดดี้คนรุ่นใหม่ที่เป็นอาสาสมัคร เป็นเพื่อนคอยดูแลให้คำปรึกษาตลอดโครงการฯ สร้างความเข้าใจเทคโนโลยีและลดช่องว่างระหว่างวัยให้กับสังคม

ทั้งนี้สามารถติดตามกิจกรรมและความคืบหน้าโครงการฯ ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ ได้ที่ Facebook , Tiktok , Youtube : สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก

ติดตามข้อมูลข่าวสารกิจกรรมได้ที่
FACEBOOK: กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
FACEBOOK: สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก" ปีที่ 3 กระตุ้น Active Aging