สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยแลนวัตกรรม (สกสว.)นำคณะผู้แทนไทย จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการกำหนดเงื่อนไขว่าด้วยการสร้างความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน) ในประเทศ อันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของภาครัฐ (Offset) ผ่านแนวทางการบริหารจัดการกระบวนการจัดซื้อของภาครัฐ ภายใต้นโยบายความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรม (Industrial Collaboration Program, ICP) พร้อมกันนี้ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)กับ Technology Depository Agency Berhad (TDA) โดย Dr. Sharoul Jambari, CEO ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย
โดย TDA เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการคลังมาเลเซีย ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและดำเนินมาตรการ Industrial Collaboration Program (ICP) ซึ่งเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศมาเลเซียเป็นอย่างมาก โดยมาตรการดังกล่าวพัฒนามาจากการจัดทำนโยบายและแนวทางการชดเชย (Policy and Guideline of Offset) ที่บังคับใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในปี พ.ศ. 2554 และต่อมาปรับปรุงเป็น "นโยบายความร่วมมือทางอุตสาหกรรม (Industrial Collaboration Program, ICP)" และเกิดการจัดตั้งหน่วยกำกับดูแลการบริหารจัดการ ตรวจสอบตลอดแผนการดำเนินการของโครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้มาตรการฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการและการบริหารจัดการทำอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตัวอย่างเช่น การดำเนินมาตรการชดเชยในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องบินรบและเครื่องบินลำเลียง ที่นำมาตรการชดเชยมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่กำหนดให้บริษัทในประเทศเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของคู่สัญญา ตลอดจนให้มีกิจการร่วมทุน และบริษัทวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วน อุปกรณ์เครื่องบิน จนทำให้ในที่สุดมาเลเซียสามารถเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท BAE Systems และบริษัท Airbus เพื่อการผลิตสินค้าทางการบินทั้งสำหรับด้านการทหารและพลเรือนไปทั่วโลกได้ในที่สุด เป็นต้น
นอกจากนี้คณะผู้แทนไทย ยังได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมบริษัทท้องถิ่นที่เข้าร่วมและได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขตามมาตรการดังกล่าว จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ Prasarana Malaysia Berhad ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลระบบขนส่งมวลชนของนครกัวลาลัมเปอร์ และ Klang Valley ที่ได้เรียนรู้เทคโนโลยีเพิ่มเติมจากการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้สามารถออกแบบและผลิตชิ้นส่วนในระบบรางได้เอง และบริษัท Truckquip Sdn Bhd เอกชนผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีและ Knowhow จนทำให้สามารถผลิตสินค้าส่งออกในห่วงโซ่อุปทานโลกได้ ซึ่งประเทศไทยมีความสนใจแนวทางการบริหารจัดการ ICP ของมาเลเซีย ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ และสร้างงานที่มีมูลค่าสูง
การหารือและลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือ แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงได้เรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จในการขับเคลื่อนมาตรการสำคัญ อันจะนำไปสู่การบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ซึ่งคณะผู้แทนไทยจะได้นำข้อมูล และแนวทางที่ได้จากการเดินทางในครั้งนี้มาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยในการขับเคลื่อนนโยบาย Offset ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างผลลัพธ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศจากการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit