ความเป็นเมืองที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดและการพัฒนาที่ขาดการบริหารจัดการและการวางแผนเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงฐานสิทธิมนุษยชน และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผนวกกับปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ได้ยาก ส่งผลให้การบริหารจัดการเมืองมีความยากและสลับซับซ้อน ซ้ำเติมปัญหาต่างๆ ให้รุนแรงและยิ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองในระดับที่แตกต่างกัน จากข้อจำกัดด้านทุน การเข้าถึงสิทธิ และเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิต การเตรียมความพร้อมของชุมชนและเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและร่วมมือในการวางแผนเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวในระดับชุมชนและเมือง เพิ่มศักยภาพในการจัดการความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน ครอบคลุมคนทุกระดับ และเกิดความเท่าเทียม
โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (พ.ศ. 2566-2567) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป ได้ดำเนินการหนุนเสริมเพิ่มศักยภาพให้แก่ภาคประชาสังคมในระดับรากหญ้า ภายใต้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชนเป็นฐาน มุ่งสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้นำรวมถึงคนในชุมชน ให้รู้บริบท ตระหนักถึงปัญหา และหาทางแก้ไขปัญหาโดยชุมชน โดยมีรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงที่ชุมชนลงมือรวมกลุ่มจัดตั้งคณะทำงานในพื้นที่โดยมีคนในชุมชนเป็นผู้นำหลักและมีการหนุนเสริมจากภาครัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานวิชาการ การสำรวจข้อมูลความเปราะบางของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากเครื่องมือแบบประเมินอย่างง่ายเพื่อให้ชุมชนได้เข้าใจและรู้เท่าทันข้อมูลอย่างลึกซึ้งแท้จริงของชุมชนเอง การได้เรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจากการดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ เรียนรู้การวางระบบทีมนำไปสู่การเตรียมจัดตั้งองค์กรภาคประชาสังคมในรูปแบบนิติบุคคลในพื้นที่ เพื่อต่อยอดขยับและผลักดันการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างดีขึ้นและเป็นที่ยอมรับ จากกระบวนการดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นกระบวนการหนุนเสริมรวมกลุ่มของผู้คนในชุมชนที่ดี ส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จ เพื่อให้การทำงานของภาคประชาสังคมเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกันแบบพหุภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการให้มากขึ้น โดยมีข้อเสนอแนะกระบวนการหนุนเสริมจากการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา ดังนี้
- กลุ่มเปราะบางภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีมากกว่ากลุ่มเปราะบางทางสังคมเพราะทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้นแต่อยู่ในระดับที่แตกต่างกัน จากองค์ประกอบปัจจัยที่ต้องพิจารณารวม คือ การเปลี่ยนแปลงเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน การเปลี่ยนเส้นทางน้ำ ระบบนิเวศ แผนรับมือของครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงการบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อกลุ่มเปราะบางทั้งสิ้น หน่วยงานที่รับผิดชอบกลุ่มเปราะบางต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้และนำมาวิเคราะห์วางแผนรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นและมีความเหมาะสม ทันท่วงที กับกลุ่มเปราะบางที่แตกต่างกัน
- การทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ประชาสังคม วิชาการ และภาครัฐ มีความสำคัญมากในการเก้ปัญหาด้านเมือง สังคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน กระบวนการมีส่วนร่วม ถือเป็นหัวใจหลักในการทำงานร่วมกัน แต่โจทย์ใหญ่คือ เราจะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงได้อย่างไร และต้องใช้วิธีการใด ถ้าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การมีเวทีพูดคุยแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน (Shared Learning Dialogue: SLD) เป็นอีกกระบวนการที่ให้ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ข้อมูล ทบทวนอดีตให้เห็นความเปลี่ยนแปลง วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน โดยปราศจากอคติ จากจุดเริ่มต้นการพูดคุยที่เป็นการเล่าสู่ย้อนทวนข้อมูลให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง ค้นหาปัญหาที่แท้จริง สร้างความเข้าใจในบทบาทของกันและกัน ได้เป็นข้อตกลงร่วมกัน สร้างกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง ใน สร้างบทบาทให้แก่ชุมชน ไม่ใช่เพียงภาครัฐและภาควิชาการเป็นผู้นำกระบวนและตัดสินใจ นำมาสู่แนวทางการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพใรระยะสั้นระยะยาว และเป็นเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน
- ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและวิเคราะห์ร่วมกัน (ออกแบบ ทบทวน ทำซ้ำ) เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างบทบาท และการยอมรับของชุมชนต่อหน่วยงานภาครัฐ จากกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลโดยชุมชนเป็นผู้ลงมือออกแบบการสำรวจข้อมูลด้วยตนเอง ให้เวลาในการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ร่วมกันผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนซ้ำๆ เป็นข้อมูลที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเก็บ วิเคราะห์ และเข้าใจตรงกันว่า "ข้อมูล" คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรแก่ชุมชน เป็นข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ของพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วม สร้างการยอมรับ และใช้เชื่อมการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับภาครัฐและภาควิชาการ ในการออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหา และกระบวนการตัดสินใจร่วมกันต่อไปได้
ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน...สร้างความมั่นใจลดความขัดแย้งทุกภาคส่วน...
เปิดเวทีรับฟังแลกเปลี่ยนอย่างมีส่วนร่วม...เชื่อมร้อยเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง.....
นำสู่การเป็นชุมชนที่ตื่นรู้ ตระหนัก พร้อมเตรียมตัวรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น...
หมายเหตุ:
- ประมวลข้อมูลจากการสัมภาษณ์ถอดบทเรียน สะท้อนมุมมอง แง่คิด ของคณะทำงาน 12 เมือง ภายใต้โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป
- บทความเผยแพร่โครงการ SUCCESS จัดทำขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งทีมงานโครงการ SUCCESS มีหน้าที่รับผิดชอบเนื้อหาทั้งหมด โดยเนื้อหาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องสะท้อนมุมมองของสหภาพยุโรป
HTML::image(