คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตร จัดบรรยายพิเศษ เรื่อง"สันติภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์" หวังสร้างแรงบันดาลใจอาจารย์-นิสิต ได้สัมผัสนักวิจัยรางวัลโนเบล กระตุ้นผลิตผลงานวิจัยระดับโลก ฉลองโอกาสครบ 80 ปี สถาปนามหาวิทยาลัย มั่นใจคนไทยฝีมือเทียบชั้นเวทีโลก พร้อมแนะเน้นการสร้างผลงานวิจัยด้านความยั่งยืน
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่าคณะเศรษฐศาสตร์ได้เชิญศาสตราจารย์ฟินน์ อี. คิดแลนด์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2547 จากผลงานด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคเชิงพลวัต : ความสม่ำเสมอของนโยบายเศรษฐกิจและแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังวัฎจักรธุรกิจ มาบรรยายพิเศษ ซึ่งถือเป็นการจัดโครงการระดับนานาชาติ ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
"เราหวังจะสร้างระบบนิเวศน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคณะอาจารย์ นักศึกษา ในการทำงานวิจัยระดับโลก สร้างงานวิจัยที่มีโอกาสได้รับรางวัลโนเบลได้ โดยการถ่ายทอดประสบการณ์ของศาสตราจารย์ฟินน์ อี. คิดแลนด์ ที่ผ่านมา ม.เกษตรฯ มีการสร้างผลงานวิจัยที่โดดเด่น ทั้ง ด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ทรัพยากร เศรษฐศาสตร์สหกรณ์ อีกทั้งยัง ได้ส่งนักวิจัยไปทำงานกับองค์กรระดับโลก อย่างเช่น ส่งนักวิจัยและอุปกรณ์ร่วมงานกับ NASA การส่งนักวิจัยร่วมงานกับJICA ด้านไบโอฟู้ดส์ ถือเป็นการทำงานวิจัยระดับโลก"
สำหรับนักวิจัยด้านเศรษศาสตร์ของไทยถือว่ามีความโดดเด่น แต่การสนับสนุนด้านงบประมาณยังมีจำกัดและไม่ต่อเนื่อง ทำให้นักวิจัยไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง งานวิจัยจึงไม่โดดเด่นเหมือนกับนักวิจัยในต่างประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยควรมีงานวิจัยที่โดดเด่นในเรื่องความยั่งยืน ด้านภูมิอากาศโลก ด้าน Carbon Neutral การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์
ศาสตราจารย์ฟินน์ อี. คิดแลนด์ กล่าวถึง นโยบายที่กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่า ต้องเป็นนโยบายที่มีความน่าเชื่อถือ เกิดการผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงในระยะยาว "จากประสบการณ์พบว่าประเทศในบางภูมิภาคที่มีการผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นโยบายนั้นก็ประสบความสำเร็จ ส่วนความท้าทายของภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ภาวะเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อไปได้? เพราะหากเศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ดี จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เป้าหมายสำคัญของนักเศรษฐศาสตร์ จึงต้องใส่ใจในเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ"
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์คิดแลนด์ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของนโยบายการเงินที่ส่งผลต่อวัฏจักรธุรกิจและการจัดการนโยบายรัฐอย่างเหมาะสม โดยงมุ่งศึกษาแนวคิดที่ว่ารัฐบาลต้องมีพันธกิจที่จะสร้างนโยบายเศรษฐกิจที่จะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว ผ่านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสันติภาพ ทฤษฎีต่าง ๆ ของเขาล้วนส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจที่จะช่วยพัฒนาการค้าระดับประเทศและระดับโลกและทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
ด้าน ผศ.ศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฎ์ ลิ้มสมบุญชัย คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจที่ดี ควรประกอบไปด้วย 5 ข้อหลัก คือ 1.สร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.มีเสถียรภาพ 3.มีความเท่าเทียม 4.มีการใช้เงินคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และ 5.มีความยั่งยืน
"นโยบายระยะสั้นสามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันทำได้ระดับหนึ่ง ถ้าเราพัฒนาเศรษฐกิจเน้นกระตุ้นระยะสั้น เน้นการเติบโตแบบรวดเร็ว ฉับพลัน อาจจะส่งผลให้เกิดคนรวยกระจุกและคนจนกระจาย มันก็ไม่ดี หลายอย่างต้องมองกันระยะยาว หากหวังผลระยะสั้นจะเป็นปัญหาระยะยาว ทุกอย่างมันมีสองด้าน เราต้องบาลานซ์ข้อดีข้อเสีย ต้องพิจารณาว่าถ้าได้เศรษฐกิจระยะสั้น แต่มันคลอนแคลนในระยะยาวเราจะเอาไหม หรือระยะสั้นเศรษฐกิจไม่ต้องเติบโตมาก แต่ดีในระยะยาวจะเอาหรือไม่?" ผศ.ศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฎ์ กล่าว
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit