ตลาดทุนไทยจัดงาน "ลั่นระฆัง" วันสตรีสากลในหัวข้อการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนับสนุนโอกาสที่เท่าเทียมในภาคธุรกิจ

12 Mar 2024

ความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมพลังของผู้หญิงไม่เพียงแต่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญเพื่อเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกด้าน ตั้งแต่การเติบโตอย่างทั่วถึงไปจนถึงสังคมที่สงบสุข

ตลาดทุนไทยจัดงาน "ลั่นระฆัง" วันสตรีสากลในหัวข้อการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนับสนุนโอกาสที่เท่าเทียมในภาคธุรกิจ

เพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากลปี 2024 ซึ่งมีธีมหลักคือ "Invest in Women: Accelerate Progress" ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ UN Women เป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน Ring the Bell for Gender Equality 2024 อีกครั้ง ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 11 มีนาคม 2567

การ "ลั่นระฆัง" นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการส่งเสริมให้มีโอกาสอย่างเท่าเทียมในตลาดทุน

คุณภัทรวสี สุวรรณศร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการปฏิบัติการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะสมาชิกสมาพันธ์ตลาดหลักทรัพย์โลก ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมจัดงานลั่นระฆังเพื่อสร้างความเท่าเทียมครั้งที่ 10 ร่วมกับพันธมิตรในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความเท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรม โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในการดำเนินธุรกิจ เราร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินด้านการกำกับดูแลกิจการ และการประเมิน SET ESG Ratings ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เองในการออกข้อเสนอแนะและตัวชี้วัดในการประเมินต่าง ๆ ให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ เช่น การเพิ่มสัดส่วนกรรมการผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัท ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของสตรีเท่านั้น แต่ยังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของคณะกรรมการอีกด้วย นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งเน้นความสำคัญในเรื่อง "ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการอยู่ร่วมกัน" ในที่ทำงาน ซึ่งสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ในการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นพื้นที่สำหรับอนาคตของทุกคน: To Make the Capital Market 'Work' for Everyone"

ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "เนื่องในโอกาสเดือนแห่งวันสตรีสากล สำนักงาน ก.ล.ต. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Ring The Bell for Gender Equality 2024 เพื่อเน้นถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่มีหน้าที่ในการพัฒนาตลาดทุน หนึ่งในเรือธงยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. คือการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เข้าสู่กระบวนการธุรกิจตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะมิติด้านสังคมที่รวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 และมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมาย SDG 5 ด้านความเท่าเทียมทางเพศ"

หลังจากการลั่นระฆัง ตัวแทนจาก International Finance Corporation (IFC), UN Global Compact และภาคเอกชน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กันในช่วง "Investing in Women Exchanges" หัวข้อ "Investing in Women: A Human Rights Imperative" เพื่อแสดงให้เห็นว่า การลงทุนเชิงกลยุทธ์ในผู้หญิงสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและพาเราไปสู่อนาคตที่เท่าเทียมยิ่งขึ้นได้อย่างไร

ในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ "Shifting to a Green Economy and Care Society - Alternative Business Model" โดยวิทยากรจากองค์กรที่หลากหลาย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจทางเลือกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจด้านการดูแล (Care Economy) ในอนาคตปี ค.ศ. 2030

"ในช่วงการเสวนา เราได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับ Green Economy and Care Society กันอย่างตื่นเต้น โมเดลเศรษฐกิจทางเลือกเหล่านี้เสนอแนวทางใหม่ ๆ เพื่อโลกที่ครอบคลุม ใส่ใจ และยั่งยืนมากขึ้น เราต้องสนับสนุนโมเดลธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของและเป็นผู้นำ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงตลาด การเงิน และโอกาสในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ UN Women ภายใต้โครงการ WE RISE Together ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลออสเตรเลียผ่านโครงการความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ออสเตรเลีย ได้ดำเนินการส่งเสริมการเข้าถึงความสามารถทางการตลาดและการมีส่วนร่วมของสตรีในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง" คุณซาร่าห์ นิบส์ รองผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าว

ปี 2567 ถือเป็นปีที่ 10 ของแคมเปญ Ring the Bell ทั่วโลก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. และ UN Women ลั่นระฆังในวันสตรีสากลเพื่อเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุนไทยและที่อื่น ๆ สร้างโอกาสที่เท่าเทียมในภาคธุรกิจ เร่งขับเคลื่อนประเด็นความเสมอภาคทางเพศ และสร้างอนาคตที่เป็นธรรมและยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน

HTML::image(