ไทยพีบีเอสร่วมกับ 8 หน่วยงานหลักป้องกันและปราบปรามภัยออนไลน์ ผนึกกำลังกวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์ ยกระดับรู้เท่าทันภัยออนไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน
ไทยพีบีเอส โดย "รายการสถานีประชาชน" ร่วมกับ 8 หน่วยงานหลัก ในการป้องกันและปราบปรามภัยออนไลน์ ได้แก่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (CCIB) ธนาคารแห่งประเทศไทย ชมรมตรวจสอบและป้องกันทุจริต สมาคมธนาคารไทย คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA และสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมเสวนาหาทางออก สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกกลุ่มให้ "รู้เท่าทันภัยออนไลน์" เมื่อวันที่ 25 มี.ค.67 ที่ผ่านมา
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเผชิญความยากลำบากเมื่อได้รับความเสียหาย แล้วสิ่งที่คาดหวังที่สุดคือ การเยียวยา หรือได้รับเงินคืน โดยตั้งข้อสังเกต กรณีข้อกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต่างกันระหว่างบัญชีธนาคาร และบัตรเครดิต หากมีรายการที่ผู้บริโภคเชื่อว่าไม่ได้ทำเกิดขึ้นนั้น ฝ่ายบริษัทบัตรเดบิต-เครดิต จะเป็นฝ่ายที่ดำเนินการให้แทบทุกอย่าง ซึ่งแตกต่างกับบัญชีธนาคาร ที่ใช้หลักปฏิบัติที่ต่างกัน คือ หากเกิดปัญหาแล้ว ถ้ามีการพิสูจน์ทราบได้ว่าสถาบันการเงินเป็นฝ่ายรับผิดชอบก็ต้องรับผิดชอบ แต่ยังไม่เคยมีใครกล้าบอกว่าเป็นความผิดของตัวเอง แล้วยอมชดใช้ให้ประชาชน ทำให้ภาระกลับไปตกที่ประชาชน
"หากอาชญากรรมไซเบอร์เกิดขึ้นกับผู้ใช้บัตรเครดิต ย่อมต่างกับปัญหาจากบัญชีเงินฝากอยู่แล้ว เพราะบัตรเครดิต เป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งระหว่าง ประชาชน-ร้านค้า-ธนาคาร แต่บัญชีธนาคารนั้นเกิดระหว่างประชาชน-ธนาคาร เท่านั้น ข้อกำกับจึงต่างกันไปด้วย อย่างไรก็ตาม เราต้องใช้ยาแรงเทียบกับสถานการณ์โควิด-19 สร้างองค์ความรู้ที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม สร้างสัปดาห์รณรงค์ภัยออนไลน์อย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องชัดเจน สื่อถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย" นายธวัช ไทรราหู รองประธานชมรมตรวจสอบและป้องกันทุจริต สมาคมธนาคารไทย กล่าว
นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันลักษณะการหลอกลวงของมิจฉาชีพมีหลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบการโอนเงินผ่านธนาคาร มีหลายขั้นตอนกว่าจะโอนเงินไปได้ จึงยากที่จะวินิจฉัยว่าความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ใคร จึงต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครผิด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะของการรับผิดคนละครึ่ง ส่วนการใช้งานแอปพลิเคชันของธนาคารนั้น สามารถมั่นใจได้ เพียงแต่ขอให้หมั่นอัปเดตเวอร์ชันระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์และแอปพลิเคชัน สิ่งสำคัญคือ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อกดลิงก์ที่ไม่รู้จักเด็ดขาด ซึ่ง ธปท.ได้ออกมาตรการให้โทรศัพท์ 1 เบอร์ 1 เครื่อง 1 ธนาคาร และเพิ่มการใช้รหัสพิน 6 หลัก และการสแกนหน้า ขั้นตอนสุดท้ายคือ การทำตัวหนังสือสีแดงถามผู้บริโภคอีกครั้ง ก่อนทำการโอน อีกทั้งยังได้มีการเร่งประชาสัมพันธ์เตือนประชาชนไม่กดลิงก์ ที่ได้รับจาก SMS ด้วย ซึ่งหากประชาชนประสบปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ สามารถแจ้งปัญหาได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 กว่า 100 คู่สาย ที่ให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์ แบบ One Stop Service ตลอด 24 ชั่วโมง
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) (CCIB) เล่าถึงการปฏิบัติงานของ ตร.ไซเบอร์ ว่า ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท/วัน ถือว่าสูงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในรอบ 2 ปี ซึ่งหมายความว่า ตำรวจไซเบอร์ยังทำได้ไม่ดีพอที่จะทำให้ความเสียหายลดลงได้ ทุกวันนี้จึงต้องเข้มงวดมาตรการต่าง ๆ ให้มากขึ้น สำหรับปัญหาที่พบบ่อยคือ การติดตามหรือคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายล่าช้า เนื่องจากตำรวจไม่ได้รับข้อมูลจากธนาคารที่รวดเร็วหรือมากพอ ซึ่งปัจจุบัน ทางตำรวจไซเบอร์ สามารถอายัดเงินคืนจากกลุ่มมิจฉาชีพในรอบ 2 ปีนี้ มีจำนวนถึง 5,000 ล้านบาท แต่ไม่รู้จะนำเงินคืนใคร เพราะไม่มีการรายงานว่าเป็นเงินของใคร อีกทั้งเป้าหมายของตำรวจไซเบอร์อยากให้มีการปิดบัญชีม้าทั้งหมด แต่พบว่า มีการตีความทางกฎหมายที่ไม่ตรงกัน ใน พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามภัยไซเบอร์ มาตรา 6 วรรค 2
"สิ่งเร่งด่วนที่ประชาชนควรจะต้องทำเมื่อโดนหลอกลวงและโอนเงินไปให้คือแจ้งธนาคารของตัวเอง หรือแจ้งสายด่วน AOC 1441 ให้เจ้าหน้าที่ประสานงานทุกอย่าง หรือแจ้งภัยออนไลน์ไปที่ www. thaipoliceonline.go.th จะมีสายด่วนของทุกธนาคารให้ แจ้งในเบื้องต้นก่อนแล้วกระบวนการในการแจ้งความจะตามมา" รอง ผบช.สอท. กล่าว
นายสุทธิศักดิ์ สุมน รองโฆษกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ทุกครั้งที่ ปปง.แถลงข่าวเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ จะพยายามอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เราเน้นย้ำเพิ่มขึ้นว่าให้บูรณาการกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีให้มากขึ้น โดยขั้นตอนหลังจากที่ ปปง.ดำเนินความผิดแล้ว ถ้าไม่มีผู้เสียหายมาร้อง ทรัพย์นั้นก็ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ถ้ามีผู้เสียหาย ปปง.จะประกาศในราชกิจจาฯ เพื่อให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องกับ ปปง.หรือยื่นที่ที่ทำการไปรษณีย์ก็ได้ โดยโหลดคำร้องจากหน้าเว็บไซต์ ปปง.ได้ จากนั้น ปปง.จะพิจารณาว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ แล้วยื่นคำร้องไปยังศาลแพ่งเพื่อคืนทรัพย์สินให้ และเงินจะได้คืนต่อเมื่อศาลมีคำสั่งนั้นถึงที่สุด ทั้งนี้ต้องบอกว่า ระยะเวลานั้นยาวนานขึ้นอยู่กับกระบวนการสู้คดี
ด้าน ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เสริมว่า วิวัฒนาการของอาชกรรมไซเบอร์เร็วมากตอนนี้ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลยนอกจากคีย์บอร์ด ก็สามารถล้วงเอาเงินจากประชาชนได้ แถมยังทำเป็นขบวนการมากขึ้น มีทั้งบัญชีม้า ซิมโทรศัพท์ผี ผิดกฎหมายหลายหมื่นซิม ซึ่งต้องยอมรับว่าอาชญากรรมในลักษณะนี้ยังคงมีอยู่ ไม่มีวันหมดไป เพียงแต่ต้องหาทางหยุดอาชญากรรมนี้ให้ได้ ปัจจุบันการรับจ้างเปิดบัญชีม้า ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับกลุ่มอาชญากรเพียงกลุ่มเดียว แต่มันโยงไปหาหลายแก๊ง เพราะกลุ่มมิจฉาชีพแบ่งหน้าที่กันทำ ตอนนี้การเปิดบัญชีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ทำให้การเปิดบัญชีม้าก็มีราคาค่าเปิดเพิ่มขึ้นด้วย
"กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีการยกกระดับในส่วนของการสืบสวนสอบสวนให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น เราเข้าไปหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน การแฝงตัวเข้าไปในองค์กรอาชญากรรม เช่น deep web, dark web หรือใช้นวกรรมทางเทคโนโลยี ในการสอบสวนสืบสวน ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ นำมาสู่การติดตามจับกุมผู้กระทำในลักษณะของเครือข่ายอาชญากรรมในและต่างประเทศ เพื่อหยุดอาชญากรรมเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด" ผอ.กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าว
นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ PDPC Eagle Eyes เพื่อจับกุมแก๊งมิจฉาชีพและสืบต่อว่านำข้อมูลมาจากไหน ถ้ามาจากคนๆ เดียวตั้งใจนำไปขายเอง ก็มีบทลงโทษส่วนบุคคล ในส่วนของหน่วยงาน ถ้าหน่วยงานมีการทำข้อมูลรั่วไหล ก็จะเตือนในครั้งแรก ถ้าผิดครั้งที่ 2 ก็มีบทลงโทษเช่นกัน ย้ำว่า กฎหมาย PDPA นั้นมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน รวมถึงสามารถสั่งให้หน่วยงานที่ทำข้อมูลรั่วชดใช้ความเสียหายต่อประชาชนที่ถูกนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ มีโทษปรับสูงถึง 5,000,000 บาทแล้วแต่กรณี ทั้งทางปกครอง ทางแพ่ง และทางอาญา ด้วย
ด้าน นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) (ETDA) กล่าวว่า ETDA ดำเนินการปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ของมิจฉาชีพ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของประชาชนจำนวนมาก และยังขยายการป้องกันภัยไซเบอร์ด้วยการก่อตั้งศูนย์ประสานงานกันในอาเซียน ทั้งนี้ได้จัดกลุ่มกระจายความรู้ลงพื้นที่ และ กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา รวมถึงใช้เทคโนโลยีใช้ AI เข้ามาตรวจสอบเพจมิจฉาชีพมากขึ้น เช่น การหาเส้นทางการเงินย้อนขึ้นไป เพื่อคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้ถูกต้องตามจำนวนและคดีนั้น ๆ
สามารถติดตามชมงานเสวนา "รู้เท่าทันภัยออนไลน์" อีกครั้ง ได้ทางเว็บไซต์ https://www.thaipbs.or.th/program/People และติดตามชมรายการ "รายการสถานีประชาชน" ได้ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 14.05 - 15.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 หรือติดตามข่าวสารของรายการได้ที่ Facebook : สถานีประชาชน ไทยพีบีเอส
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit