ผลงาน 'กองทุนบัตรทอง ปี 66" ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่ม เตรียมนำรายงานเสนอต่อ ครม.-สภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา

06 Mar 2024

บอร์ด สปสช. เห็นชอบผลงาน "กองทุนบัตรทอง ปี 66" ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเพิ่มขึ้น พัฒนาระบบบริการ สิทธิประโยชน์ใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ พร้อมรุกนโยบายยกระดับ 30 บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ เตรียมนำรายงานเสนอ ครม.-สภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา ต่อไป

ผลงาน 'กองทุนบัตรทอง ปี 66" ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่ม เตรียมนำรายงานเสนอต่อ ครม.-สภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบรายงาน "ผลการดำเนินงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566" นำเสนอโดย พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเตรียมนำรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามมาตรา 18 (12) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ต่อไป

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ นับเป็นปีที่ 21 แล้วที่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ได้ดูแลคนไทยกว่า 47 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างครอบคลุม เสมอภาคและมีคุณภาพ พร้อมทั้งที่ผ่านมาได้มีการยกระดับบริการสุขภาพและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพที่มั่นคงสำหรับคนไทย เช่น นโยบายประชาชนรับบริการหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ (OP anywhere) ซึ่งมีการใช้บริการมากกว่า 1.81 ล้านครั้ง ประชากรกว่า 9.9 แสนคน ในหน่วยบริการ 3,635 แห่ง นโยบายผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว (IP anywhere) โดยจากรายงานระบุว่า มีการใช้บริการนี้แล้วถึง 2 ล้านครั้ง หรือคิดเป็น 35% ของบริการผู้ป่วยในทั้งหมด นโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ (CA anywhere) ซึ่งมีการใช้บริการถึง 1.63 ล้านครั้ง ในหน่วยบริการ 191 แห่ง และ การเปลี่ยนหน่วยบริการได้สิทธิทันทีไม่ต้องรอ 15 วัน โดยประชาชนมีการเปลี่ยนหน่วยบริการและใช้สิทธิทันทีแล้ว 5.85 แสนครั้ง คิดเป็น 29% ของภาพรวมทั้งหมด

"นอกจากการยกระดับบริการ ยังมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง 30 บาท อีกหลายรายการ เช่น การตรวจไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ คัดกรองธาลัสซีเมียและคัดกรองซิฟิลิสในสามีและคู่ของหญิงตั้งครรภ์ การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง การตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง คัดกรองการได้ยินและคัดกรองโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกในทารกแรกเกิด ผ่าตัดใส่รากฟันเทียมในผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก" ประธานบอร์ด สปสช. ระบุ

ทั้งนี้ สำหรับในปี 2566 ด้วยความร่วมมือจาก สธ. สปสช. หน่วยบริการ ภาคประชาชนและภาคีเครือข่าย ภายใต้นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ยังได้มีการขยายนวัตกรรมบริการสุขภาพรูปแบบใหม่และเทคโนโลยีดิจิทัลสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น ลดความแออัดและการรอคอยในโรงพยาบาล ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประเทศ โดยมีผลงานดังนี้

  1. ร้านยาคุณภาพ ที่ครอบคลุมการรับยาใกล้บ้าน ให้คำปรึกษาดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ และการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2. การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วย 3. บริการเจาะเลือด และตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) นอกหน่วยบริการ 4. บริการที่คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 5. บริการที่คลินิกกายภาพบำบัด 6. บริการสายด่วนสุขภาพจิต (1323) 7. บริการสายด่วนเลิกบุหรี่ (1600) 8. บริการสาธารณสุขทางไกล (Telemedicine) เพื่อติดตามอาการผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs) 9. บริการการแพทย์ทางไกล ครอบคลุมการรักษา 42 กลุ่มโรคในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 10. บริการดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน (Home Ward)

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า เหล่านี้ทำให้ภาพรวมในปี 2566 มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นจากปี 2565 โดย เช่น บริการผู้นอก 170.39 ล้านครั้ง จากปี 2565 ที่มีจำนวนอยู่ที่ 167.37 ล้านครั้ง กลุ่มเสี่ยงได้รับบริการป้องกันติดเชื้อเอชไอวี (HIV) จาก 1.98 แสนคนปี 2565 เป็น 3.54 ล้านคนในปี 2566 ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังได้รับบำบัดทดแทนไต (ฟอกเลือด ปลูกถ่ายไต ล้างไต) มากขึ้นกว่า 1 หมื่นคน และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงได้รับการดูแลเพิ่มขึ้นกว่า 1.34 แสนคน ฯลฯ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 บอร์ด สปสช. มีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนนโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ให้ประสบความสำเร็จ โดยได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตรวจสอบการเบิกจ่าย และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย การเพิ่มความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนให้ประชาชนมีความรอบรู้ ดูแลสุขภาพตนเองได้

รวมถึงการยกระดับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง และสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพชุมชนและการคุ้มครองสิทธิด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การสร้างความยั่งยืนและความมั่นคงและความเป็นเอกภาพของระบบหลักประกันสุขภาพไทย พร้อมกับหนุนเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์ไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพไทยสู่เวทีโลก

"สิ่งที่ช่วยยืนยันอีกอย่างหนึ่งว่าการยกระดับต่างๆ ได้เข้าไปช่วยให้การเข้าถึงบริการของพี่น้องประชาชน และระบบบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็คือภาพความพึงพอใจต่อระบบบัตรทอง 30 บาททั้งจากประชาชน ผู้ให้บริการ และองค์กรภาคี ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าทาง สปสช. สธ. หน่วยบริการ และองค์กรภาคีเครือข่าย จะยังคงขับเคลื่อนให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป" เลขาธิการ สปสช. กล่าว