งานถ่ายภาพรังสีช่องปากไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะงานทางด้านทันตกรรม แต่สามารถช่วยวินิจฉัยรอยโรคในบริเวณที่เกี่ยวข้องได้ด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงระวีวรรณ อารยะสันติภาพ รองหัวหน้าภาควิชารังสีวิทยาช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภาควิชาฯ ผลิตบัณฑิตทันตแพทย์สู่การเป็น "มืออาชีพ"
ด้วยการบ่มเพาะทักษะทันตรังสีวินิจฉัยเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญจากรายวิชา Radiology ที่จะทำให้นักศึกษาทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานรังสี ทั้งด้านชีววิทยาที่มีผลต่อสิ่งมีชีวิต ด้านฟิสิกส์ กำเนิดรังสี พัฒนาการทางทันตรังสีวินิจฉัย ตั้งแต่การถ่ายภาพรังสีด้วยฟิล์ม ไปจนถึงระบบดิจิทัล การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)
โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติจริง ทั้งฝึกกับหุ่น และผู้ป่วยจนเกิดความชำนาญ สามารถอ่านภาพรังสี วินิจฉัยความผิดปกติ ให้การรักษาอย่างถูกต้อง หรือส่งต่อเพื่อรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ
หนึ่งในเทคนิคการถ่ายภาพรังสีนอกช่องปาก นอกเหนือจากการถ่ายภาพรังสีในช่องปากที่ใช้ตัวรับภาพขนาดเล็ก ได้แก่ เทคนิคการถ่ายภาพรังสี Dental Panoramic โดยเครื่องถ่ายภาพรังสีหมุนรอบศีรษะ 1 รอบ นอกจากใช้ในงานทันตรังสีวินิจฉัยแล้ว ยังสามารถใช้ช่วยตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะอื่นบริเวณใกล้เคียงได้
อาทิ การตรวจหินปูนในหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ (Calcified Carotid Atheroma) ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) การตรวจความผิดปกติข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joint) รอยโรคในไซนัสหรือโพรงอากาศขากรรไกรบน (Maxillary sinus) ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อดูตำแหน่งของความผิดปกติ ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัย ใช้ AI เข้ามาร่วมช่วยในการวินิจฉัย เพื่อประมวลผลสู่การวางแผนรักษาโดยละเอียดต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงระวีวรรณ อารยะสันติภาพ กล่าวต่อไปว่า ข้อดีที่เห็นได้ชัดของเทคนิค Dental Panoramic คือ สามารถลดข้อจำกัดของการถ่ายภาพรังสีภายในช่องปากด้วยตัวรับภาพขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากการเห็นภาพบริเวณจำกัดขนาดเล็ก ยังอาจทำให้เกิดผู้ป่วยบางรายรู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียนจากการถ่ายภาพรังสีบริเวณฟันหลัง ซึ่งต้องใส่ตัวรับภาพเข้าไปในตำแหน่งที่ลึกภายในช่องปาก
อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งของการฝึกทักษะนักศึกษาทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สำคัญ คือ การสื่อสารกับผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ร่วมมือ และเชื่อมั่นในความปลอดภัยในการตรวจด้วยทันตรังสีวินิจฉัย
ซึ่งการถ่ายภาพรังสีในช่องปากโดยทั่วไปที่ใช้ตัวรับภาพขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะได้รับรังสีประมาณ 9.5 ไมโครซีเวิร์ต เทียบเท่ากับการได้รับรังสีจากธรรมชาติประมาณ 1 วัน ในขณะที่การถ่ายภาพรังสีนอกช่องปากเทคนิค Dental Panoramic ผู้ป่วยจะได้รับรังสีประมาณ 9 - 24 ไมโครซีเวิร์ต เทียบเท่ากับการได้รับรังสีจากธรรมชาติประมาณ 1 - 3 วัน
รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงระวีวรรณ อารยะสันติภาพ ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะอาจารย์ทันตแพทย์นักวิจัยผู้มีผลงานวิจัยด้านทันตรังสีวินิจฉัย และร่วมบูรณาการวิชาการ โดยได้รับการตีพิมพ์ทางวารสารวิชาการชั้นนำด้านทันตกรรมระดับนานาชาติมากมาย อาทิ Clinical Oral Investigations, Odontology, Journal of Dental Sciences และ European Journal of Dentistry เป็นต้น ซึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2567 รวมได้รับการตีพิมพ์จำนวน 14 เรื่อง
และพร้อมยืนยันเจตนารมณ์แห่งการเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเคียงข้างรับใช้ปวงชนชาวไทยเพื่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี บรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG3 : Good Heath & Well - being สืบไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit