สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการนำเสนอผลการศึกษาและผลผลิต "โครงการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ" ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "นวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคมไทย" ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ เป็นโครงการที่ วช. ให้การสนับสนุน แก่ รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร หัวหน้าแผนงานโครงการฯ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยทีมคณะนักวิจัย
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "นวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคมไทย" เน้นย้ำถึงความท้าทายในการทำให้สังคมน่าอยู่และปลอดภัย ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความปลอดภัยในสังคม โดยการศึกษาสถานการณ์ทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของคนในสังคมเพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายจนก่อให้เกิดผลผลิตและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีประโยชน์และทรงคุณค่า และไปสู่แนวทางการปฏิบัติ โดยทุกฝ่ายต้องมุ่งเน้น การสร้างระบบสังคมแห่งความปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และการบังคับใช้สู่การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ และร่วมสร้างสังคมที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคนด้วยวิจัยและนวัตกรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีบทบาทสำคัญด้านการขับเคลื่อนและประสานการดำเนินโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจนรวมถึงการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลผลิตจากงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล ซึ่งปัญหาความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาหนึ่งที่ไม่เลือกกลุ่มเพศ วัย อีกทั้งยังเกิดได้ในทุกสถานการณ์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการมีเครื่องมือกลไกในการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนเครื่องมือในการป้องกันปัญหา สำหรับโครงการพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นับเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ที่เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะในด้านเครื่องมือป้องกันการกระทำความผิดทางเพศ ทั้งยังมีการพัฒนาสื่อออนไลน์ให้เด็กเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และสามารถนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร หัวหน้าแผนงานโครงการฯ เปิดเผยว่า การดำเนินงานวิจัยของแผนงานที่มีโครงการวิจัยย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัย ทั้ง 3 โครงการ โดยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการเอาตัวรอดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์ เพิ่มประสิทธิภาพการนำแอปพลิเคชัน BeBrave ไปใช้ในการป้องกันการข่มขืน และนำเสนอแนวปฏิบัติที่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีผ่านชุดการเรียนรู้และหนังสั้น ซึ่งมีเนื้อหาที่สอดแทรกความรู้และทักษะในการป้องกันตนเองจากการกระทำความผิดทางเพศในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน และสิ่งที่ถือว่าเป็นแก่นของงานวิจัย ได้แก่ แอปพลิเคชัน BeBrave ที่ได้พัฒนามาจนถึงปีที่ 2 โดยมีฟังก์ชันหลักในการขอความช่วยเหลือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งผลจากการวิจัยที่ได้จากการเก็บข้อมูลจากแต่ละภาคของประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ระบบ SOS BeBrave สามารถเชื่อมโยงไปยังสายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ได้ในทันที และดาวน์โหลดได้ทั้งในระบบ iOS และ Android ซึ่งในครั้งนี้ ได้ร่วมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจในการผลิตคู่มือแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดีสำหรับผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ จำนวน 2 เล่ม ได้แก่ 1) คู่มือการดำเนินคดีสำหรับผู้กระทำผิดทางเพศ และ 2) แนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการให้คำแนะนำผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ผ่านระบบแอปพลิเคชันดังกล่าว อันจะนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
กิจกรรมภายในงานมี การกล่าวสุนทรพจน์ (Speech) ในหัวข้อ "New Gen Anti Sex Crimes" โดย ตัวแทนนักเรียนและนักศึกษา จาก 6 สถาบัน ซึ่งเป็นการแสดงพลังของเยาวชนในการร่วมต่อต้านอาชญากรรมทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน
ทั้งนี้ การสร้างความรู้ความเข้าใจในครอบครัวและ การสร้างเครือข่าย ระหว่างครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เพื่อช่วยป้องกันปัญหาสามารถนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการให้คำแนะนำผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับคดีทางเพศด้วยวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยับยั้งการก่อเหตุคดีทางเพศในอนาคตได้ต่อไป