นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนว่า กทม. โดย สนย. ได้ประสานและแนะนำเจ้าของอาคารตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงจากอิทธิพลพายุฤดูร้อนหากเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ต้องควบคุมป้ายให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงและมีความปลอดภัยในการใช้ป้าย ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 ซึ่งได้กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมพร้อมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้ม โดยกำชับเจ้าของป้ายขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเร่งรัดการรื้อถอน นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สปภ. ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรงและปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำนักงานเขต เพื่อขอให้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของต้นไม้ รวมทั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะและถนนสายต่าง ๆ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยเบสท์ (BEST) เครื่องมือ และอุปกรณ์ กรณีเกิดเหตุป้ายโฆษณา ต้นไม้ฉีกหัก หรือโค่นล้มจากพายุฝนและลมกระโชก โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักและพื้นที่ชุมชนที่อาจส่งผลกระทบต่อการสัญจรและความปลอดภัยของประชาชน หากมีเหตุพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชนและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐอันเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ขอให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานครดำเนินการตามมาตรา 37 ประกอบกับมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว สำรวจความเสียหายต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายและออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขอรับการสงเคราะห์และฟื้นฟูจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit