กระทรวงพลังงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผนึก สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน (TSAST), CCPIT และ CAS-ICCB จัดใหญ่ "2023 Green Technology Expo" หวังผลักดันให้เกิดการใช้และกระจายนวัตกรรม เทคโนโลยี พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย
กระทรวงพลังงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน (TSAST) สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้ (CCPIT-Shanghai) และสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (CAS-ICCB) ในฐานะเจ้าภาพ ร่วมกันจัดพิธีเปิดงาน "2023 Green Technology Expo" โดยจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้และการกระจายเทคโนโลยี ทั้งด้านพลังงาน การขนส่ง การเกษตร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งไทยและต่างประเทศ ตลอดจนสนับสนุนนโยบาย UN Policy และประชาคมโลก เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การพัฒนาแบบยั่งยืน (SDG) และการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาค โดยงาน 2023 Green Technology Expo มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงจำนวนกว่า 100 ราย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 12 พฤศจิกายน 2566 ณ ฮอลล์ 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมงานตลอด 4 วัน ไม่น้อยกว่า 4,000 คน
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "เป็นที่ยอมรับและรับรู้กันว่า โลกของเรากำลังเผชิญ กับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อทุกชีวิตที่อาศัยบนโลกนี้ และ สาเหตุสำคัญ คือการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีอัตรา เพิ่มขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 และเป็นช่วงเวลาที่มี ความก้าวหน้าทางวิชาการ โดยเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนา เทคโนโลยี มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ การค้นพบน้ำมัน นวัตกรรม เครื่องจักรกล การผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตและการกระจายสินค้าให้เข้าถึงทุกภูมิภาคของโลก รวมทั้ง ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น จนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องขอบคุณนักวิจัย และนวัตกรรมเหล่านั้น แต่ความสุขและเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ได้มาพร้อมกับการสะสมก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งมีผลกับทุกคน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนั้น การลดปัญหาที่เกิดขึ้น จึงต้องแก้ที่เหตุและผลมีหนทางเดียวคือ การใช้ความรู้ ความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรุ่นใหม่ ที่จะช่วยกันประดิษฐ์คิดค้น กับสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่ โดยทุกกระบวนการ จะไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
โดยปัจจุบัน ภาครัฐของประเทศให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อ ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และ 2065 ตามลำดับ ตามที่ประกาศไว้ในการประชุม COP26 ผ่านการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย SDG และ BCG Economy ในทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ภาคพลังงานมีการส่งเสริมการ ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30/30 รวมถึงการให้ความสำคัญต่อมาตรการทางการเงินและภาษี ที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวข้างต้นให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ การจัดงาน 2023 Green Technology Expo ครั้งนี้ จึงเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่ ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อโลก ก่อให้เกิดการกระจายการใช้ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์กับทุกชีวิตบนโลกนี้" ดร.ประเสริฐ กล่าว
ศ.ดร.พิชัย สนแจ้ง เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน กล่าวว่า "สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-จีน ก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือจากกลุ่มผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ การพัฒนาต่อยอดธุรกิจ และสามารถลดปัญหาสำคัญของโลก หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการกระจายสินค้า ซึ่งเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลและสังคมนานาชาติ ในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change การจัดงาน "2023 Green Technology Expo" ครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้และการกระจายเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างนวัตกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง CCPIT นครเซี่ยงไฮ้, CAS-ICCB มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิ SCG รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน เจ้าของเทคโนโลยี ร่วมจัดแสดงมากกว่า 100 บริษัท ซึ่งนอกจากการแสดงสินค้าและเทคโนโลยีแล้ว ยังจัดให้มีการสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุน การเงิน และความพร้อมของประเทศ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้นักลงทุนมั่นใจกับการลงทุนด้าน Green Technology ในประเทศ รวมทั้ง การนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจ การสร้างเครือข่ายและต่อยอดธุรกิจ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสังคมโลก" ศ.ดร.พิชัย กล่าว
นายหม่า อี้ รองประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้ (CCPIT-Shanghai) กล่าวว่า "ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้นำแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลเพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ซึ่งสอดคล้องกับทางรัฐบาลจีนที่สนับสนุนในเรื่องของการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์มาอย่างยาวนาน ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว ขณะเดียวกัน แผนยุทธศาสตร์ของไทย อาทิ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้สอดคล้องเข้ากับยุทธศาสตร์ของจีนในการริเริ่มสร้างโครงการ "Belt and Road (BRI)" โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสร้างประชาคมจีน-ไทยร่วมกันในอนาคต เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ว่า "จีนและไทยเป็นครอบครัวเดียวกัน" ก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ตลอดจนส่งผลในเชิงบวกต่อการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างและได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย" นายหม่า กล่าว
ดร.เจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน กล่าวว่า "งาน 2023 Green Technology Expo ครั้งนี้ เป็นมากกว่างานจัดแสดงผลงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสร้างโลกที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการสร้างและพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันที่มีศักยภาพ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน อนุรักษ์ทรัพยากร และปกป้องระบบนิเวศทางธรรมชาติ เพื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับคนรุ่นต่อไป โดยเชื่อว่างานนี้จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทุกภาคส่วนในการดำเนินการธุรกิจหรือโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต กระจายเทคโนโลยีและการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา หรือร่วมปกป้อง ป้องกันวิกฤตและส่งต่อโลกที่สวยงามและยั่งยืนสู่คนรุ่นใหม่ต่อ ๆ ไป ควบคู่กับการเติบโตทางธุรกิจ" ดร.เจียง กล่าว
สำหรับพิธีเปิดงาน 2023 Green Technology Expo ได้รับเกียรติจาก นางสาวจาง เซียว เซียว อัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์แห่งประเทศจีน เป็นสักขีพยานความร่วมมือระหว่างจีนและไทย โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงเทคโนโลยีด้านพลังงาน การเกษตร การก่อสร้างและสิ่งแวดล้อม โดยมีเจ้าของเทคโนโลยี EV ทุกประเภทจากหลายค่าย เช่น BYD, GWM, MG, WULING และการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศของ CHANGAN หนึ่งในผู้นำ EV ระดับโลก รวมทั้งเทคโนโลยีระบบชาร์จและแบตเตอรี่ล่าสุด และการแสดงการผลิต การใช้ไฮโดรเจนแหล่งพลังงานในอนาคตที่จะปฏิวัติการใช้พลังงานของโลกอย่างสิ้นเชิง ทั้งการผลิตไฟฟ้า Mobility รวมทั้งผลิตภัณฑ์สีเขียวจาก Hydrogen ทั้ง Ammonia และ Methanol ตลอดระยะเวลาการจัดงานทั้ง 4 วัน ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับกูรูจากแวดวงต่าง ๆ ที่จะหมุนเวียนขึ้นเวทีเสวนา เพื่อมอบองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงกับผู้สนใจในหัวข้อต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนการลงทุน และการนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดเครือข่ายและต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนการนำเสนอแนวทางการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีจากหน่วยภาครัฐที่รับผิดชอบ เช่น NIA, TED Fund เป็นต้น
2023 Green Technology Expo เริ่มแล้ววันนี้และจะมีไปจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 10.00 - 19.00 น. บริเวณฮอลล์ 98 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ติดตามข้อมูลและข่าวสารของงานเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.greentechnology-expo.com หรือที่เพจเฟซบุ๊ก Green Technology Expo