ฟิทช์ประกาศให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยที่ 'BBB+'

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้อันดับเครดิตแก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อายุ 3 ปี ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือ EXIM (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่ 'BBB+' โดยหุ้นกู้ดังกล่าวออกภายใต้โครงการหุ้นกู้ Medium-Term Note (MTN) ซึ่งมีมูลค่าโครงการรวม 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

การประกาศให้อันดับเครดิตครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากฟิทช์ได้รับเอกสารฉบับสมบูรณ์ซึ่งมีข้อมูลตรงตามที่ได้รับมาก่อนหน้า อันดับเครดิตที่ประกาศนี้เป็นอันดับเครดิตระดับเดียวกับที่ฟิทช์คาดว่าจะให้แก่หุ้นกู้ดังกล่าวตามที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
ฟิทช์ให้อันดับเครดิตพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิดังกล่าวในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ EXIM เนื่องจากพันธบัตรดังกล่าวจะเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร อีกทั้งยังสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯของธนาคารที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์และสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสำหรับธนาคารของฟิทช์

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ EXIM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย (BBB+/Stable/F1) ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (Extraordinary Support) แก่ EXIM เนื่องจาก EXIM มีสถานะเป็นธนาคารรัฐและจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งเฉพาะ รวมทั้งกระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของธนาคารและมีอำนาจควบคุมการบริหารงานและกำหนดกลยุทธ์ของธนาคาร

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิตและปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ EXIM สามารถหาเพิ่มเติมได้จากรายงานอันดับเครดิตล่าสุดหัวข้อ 'ฟิทช์คงแนวโน้มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยที่ 'BBB+' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ' ("Fitch Affirms Thai EXIM at 'BBB+'; Outlook Stable") ลงวันที่ 28 กันยายน 2566

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตของพันธบัตรประเภทไม่ด้อยสิทธิของ EXIM อาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารถูกปรับลดอันดับ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ EXIM จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย

การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ EXIM อาจเกิดขึ้นได้ หากโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารมีการปรับตัวลดลง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดจากการที่รัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารลงอย่างมีนัยสำคัญ การลดลงของบทบาทของธนาคารในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับรัฐบาล หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารจากการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยจะส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตของพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิของธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร

ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม ระดับคะแนน ESG ของฟิทช์ไม่ได้เป็นปัจจัยหนึ่งของกระบวนการพิจารณาอันดับเครดิต ระดับคะแนน ESG เป็นการคาดการณ์ถึงความเกี่ยวข้องและความสำคัญของระดับคะแนน ESG ที่อาจจะมีผลต่อการพิจารณาอันดับเครดิต สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก https://www.fitchratings.com/topics/esg/products#esg-relevance-scores.

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับของ EXIM มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย


ข่าวธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย+ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าวันนี้

EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือแนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคเอกชน ณ กระทรวงการคลัง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า EXIM BANK พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบจากนโยบายภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่มีต่อผู้ประกอบการไทย ภายใต้ 5 แนวทางหลัก ดังนี้ จัดตั้งคลินิกผู้ประกอบการ (Export

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนา... EXIM BANK ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว — ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EX...

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทร... "เอกนัฏ" เสริมแกร่งอุตสาหกรรมฮาลาล ผสาน "8 หน่วยงาน 22 สินเชื่อ" ดันผู้ประกอบการไทยสู่การส่งออก — นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั...

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทร... "เอกนัฏ" เสริมแกร่งอุตสาหกรรมฮาลาล ผสาน "8 หน่วยงาน 22 สินเชื่อ" ดันผู้ประกอบการไทยสู่การส่งออก — นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั...