AAI คาดยอดขายปี 66 ทำได้ 5.5 พันล้าน มองผลงานโค้งสุดท้ายฟื้นตัว เร่งปรับแผนขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง รองรับตลาดฟื้นตัว

24 Nov 2023

'เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ AAI' ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของไทย เผยภาพรวม Q3/66 กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงผลงานลดลง YoY แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบ QoQ ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกมียอดขายใกล้เคียงเดิม เผยทิศทาง Q4/66 สัญญาณฟื้นตัวต่อ มองทั้งปีทำรายได้ที่ 5.5 พันล้านบาท ด้านกระแสเงินสดมีกำไรจากการดำเนินงาน เตรียมปรับแผนขยายกำลังการผลิตสำหรับสายการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงและเดินหน้าลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตสินค้าต่อเนื่อง

AAI คาดยอดขายปี 66 ทำได้ 5.5 พันล้าน มองผลงานโค้งสุดท้ายฟื้นตัว เร่งปรับแผนขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง รองรับตลาดฟื้นตัว

นายเอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ผู้รับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) ชั้นนำของประเทศ และเจ้าของแบรนด์ "monchou" "Hajiko" และ "Pro" ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับแมวและสุนัข เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ คาดว่ายอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยมีสัญญานตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3/2566 ที่ผ่านมา และคาดการณ์ยอดขายรวมสำหรับปี 2566 จะทำได้ที่ราว 5.5 พันล้านบาท และสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นอยู่ที่ 12 - 14% โดยเป็นรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงราว 4.4 พันล้านบาท ลดลงจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่กลุ่มบริษัทฯ รับจ้างผลิตให้กับลูกค้าเจ้าของแบรนด์ในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในขณะที่คาดการณ์ว่า ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยง แบรนด์ของตนเองในประเทศไทยจะเติบโตได้เล็กน้อยจากการที่ตลาดในประเทศมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น และคาดการณ์รายได้จากกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท ตามแผนกลยุทธ์ แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากราคาปลาทูน่าที่อยู่ในระดับสูงมาตลอดทั้งปี

โดยกลุ่มบริษัทฯ คาดการณ์ว่าในปี 2567 ยอดขายกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงจะกลับมาเติบโตเมื่อเทียบกับปีนี้ ทั้งจากลูกค้ารายใหม่ และลูกค้ารายปัจจุบัน สอดรับกับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้าอีก 6,500 ตัน ทำให้ AAI มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกในช่วงต้นปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 56,000 ตัน ทั้งนี้ บริษัทกำลังเร่งปรับแผนขยายกำลังการผลิต และคาดว่าจะลงทุนก่อสร้างคลังสินค้าเพิ่มในราวกลางปีหน้า และเดินหน้าลงทุนสร้างอาคารผลิตแห่งใหม่ในช่วงปี 2568

"ภาพรวมไตรมาส 3/2566 เริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณ 83% โดยมีตลาดที่สำคัญในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงคือ ตลาดอเมริกา และตลาดยุโรป มองในปีหน้าตลาดต่างประเทศยังเติบโตได้เพราะยังเป็นเมกะเทรนด์แม้ว่าจะไม่คึกคักเท่ากับช่วงปี 2565 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ตนเองนั้น AAI ชูกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์เจ้าของสัตว์เลี้ยง และตอบรับเทรนด์ใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันกับแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ ได้ ในด้านธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (Human Food) ในไตรมาสที่ 3 มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ราว 16% โดยตลาดที่สำคัญยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และญี่ปุ่นบางส่วน" นายเอกราช กล่าว

โดยผลประกอบการรวมสำหรับไตรมาส 3/2566 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,359 ล้านบาท ลดลง 30.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีรายได้อยู่ที่ 1,958 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมียอดขายลดลงมาก เนื่องจากระบบการขนส่งระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ Lead Time ในธุรกิจปรับลดลง ปริมาณสินค้าคงเหลือในประเทศปลายทางมีมาก ต้องมีการบริหารสต็อกสินค้าคงเหลือ ซึ่งเห็นผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 แต่เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นในไตรมาส 3/2566 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกมียอดขายอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่กำไรสุทธิไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 118 ล้านบาท ลดลง 39.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 195 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นลดลง แม้ว่ามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงมากกว่า 20% ไม่มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย ทั้งยังมีรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินฝากธนาคารและเงินให้บริษัทแม่กู้ยืม อีกทั้งมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากความพยายามในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรัดกุม อย่างไรก็ดี ผลประกอบการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 ที่มีกำไรสุทธิเพียง 26 ล้านบาท

สำหรับงวด 9 เดือนแรก 2566 AAI มีรายได้อยู่ที่ 3,945 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิทำได้ 217 ล้านบาท ผลงานลดลงด้วยแรงกดดันจากการที่มียอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นลดลงมาก แม้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และต้นทุนเงินทุนลดลง

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมลงทุนของบริษัทสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 และ 2566 เท่ากับ 307 ล้านบาท และ 633 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในไตรมาสนี้บริษัทฯ ได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทแม่ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 500 ล้านบาท และบริษัทฯ ได้มีการลงทุนขยายกำลังการผลิตสำหรับสายการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงและเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตสินค้าของบริษัทอย่างต่อเนื่องมาจากปี 2565 เพื่อรองรับปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ตามแผนการลงทุนของบริษัท

สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 กลุ่มบริษัทมีกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินเท่ากับ 367 ล้านบาท ในขณะที่มีกระแสเงินสดใช้ไปสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 เท่ากับ 816 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชำระคืนหนี้สินระยะยาว และจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานปี 2565 และผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกปี 2566