สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2567 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 8 - 10 มกราคม 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พัฒนากำลังคนสู่การขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ฐานนวัตกรรม" และมี ดร.นิรุตต์บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ. ร่วมบรรยายพิเศษ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ชี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งการมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน โดย วช. และสอศ. ได้ร่วมกันวางกลไกและจัดทำกิจกรรม เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ การบ่มเพาะจึงเน้นการปรับปรุงสมรรถนะและทิศทางในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพ
ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ.กล่าวว่า หน้าที่ของ สอศ. ต้องการสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงไปตอบโจทย์จากพัฒนาของประเทศ สร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่ งานวิจัยยุคใหม่ต้อง "กินได้ ใช้ประโยชน์ได้ ขายได้ แก้ปัญหาได้" ตอบโจทย์การพัฒนาอนาคต ยกระดับขีดความสามารถด้าน Soft power มีความเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชน ต่อยอดเชิงธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่ทำให้กำลังคนอาชีวศึกษามีสมรรถนะสูงคือการเพิ่มกระบวนการคิดระบบการวิจัยนำไปสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม สอศ. ได้ส่งเสริมให้หลากหลายสาขาอาชีพที่มีอยู่ นำกระบวนการวิจัยไปบูรณาการ จัดการเรียน การสอนในห้องเรียน เพื่อที่จะสร้างให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการ แก้ไขปัญหา รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอีกด้วย
การจัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสายอาชีวศึกษาให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การนำเสนอ การคิดสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม Upskill อาชีวศึกษา เพิ่มทักษะความเป็นผู้ประกอบการ สร้างความพร้อมสู่ตลาดแรงงานฐานนวัตกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ค้นคว้าทดลอง & หาประสบการณ์ โดยเน้นนักศึกษาอาชีวศึกษาที่อยู่ในภาคเหนือเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคม พร้อมกันนี้ได้มีกิจกรรมแบ่งกลุ่มการฝึกปฏิบัติตามกลุ่มเรื่อง ซึ่งได้กำหนดกลุ่มเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ดังนี้(1) ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร (2) ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ(3) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ (4) ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ(5) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาสมรรถนะและส่งเสริมผลงานในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ มาให้ความรู้ ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจกับทีมนักศึกษาสายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม การขับเคลื่อน การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในอนาคตต่อไป